สนข. เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ของระบบขนส่งมวลชนโคราช ยังไม่ฟันธงเอา Skybus

ประเด็นเรื่องการวางแผนขนส่งมวลชนของ จ.นครราชสีมา ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ ถึงแม้แนวคิดของทางเทศบาลนครนครราชสีมา ต้องการผลักดันแนวคิด รถเมล์ด่วนบนทางยกระดับลอยฟ้า (KRT) และเคยจ้าง ม.เทคโนโลยีสุรนารี วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการไปแล้ว

ตัวอย่างสถานี KRT
ตัวอย่างสถานี KRT ที่สร้างเป็นทางยกระดับ

แต่โครงการรถเมล์ยกระดับ หรือที่บางคนเรียกกันว่า Korat Skybus ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายใน จ.นครราชสีมา (อ่านรายละเอียดในบทความ ดีแล้วจริงหรือ? Korat Skybus รถเมล์ลอยฟ้า คุ้มค่าแค่ไหนสำหรับเมืองโคราช) โดยมีเหตุผลทั้งต้นทุนการก่อสร้างที่อาจไม่คุ้มค่า การสร้างทางยกระดับจะบดบังทัศนียภาพ และปัญหามลพิษ เป็นต้น

Sky Bus ในเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบอ้างอิงของโครงการ Sky Bus โคราช
Sky Bus ในเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบอ้างอิงของโครงการ Sky Bus โคราช

หน่วยงานหนึ่งที่ออกมาทักท้วงแนวคิดของโครงการ Skybus คือหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ถึง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจากส่วนกลางที่ลงมาศึกษาและดำเนินการโครงการ

หนังสือของหอการค้าฯ มีเนื้อหาขอให้ สนข. ทบทวนรูปแบบของ Skybus ว่ายังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้านพอ และขอให้พิจารณารูปแบบโครงการแบบอื่นๆ เช่น รถราง (tram) หรือรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) แทน โดยใช้รูปแบบการวิ่งบนผิวจราจรโดยไม่ต้องสร้างทางยกระดับเพิ่ม

ตัวอย่างระบบขนส่งรถราง ในเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น
ตัวอย่างระบบขนส่งรถราง ในเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น

ล่าสุด สนข. มีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 โดยระบุว่า สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2559 จำนวน 45 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนแม่บทการจราจรและการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของเขตเมืองนครราชสีมา ใช้เวลาศึกษา 14 เดือน ซึ่งทาง สนข. จะทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบใหม่หมด และจะรับข้อเสนอของทางหอการค้า ไปใช้ประกอบการศึกษาของ สนข. ด้วย

หนังสือตอบกลับจาก สนข.
หนังสือตอบกลับจาก สนข.

โดยสรุปคือ ข้อเสนอที่ขัดแย้งกันของทั้งทางเทศบาล และหอการค้า ยังไม่มีข้อยุติว่าจะจบลงอย่างไร และในปีงบประมาณ 2559 จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลางอย่าง สนข. ที่จะลงมาศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางอย่างละเอียด ชาวโคราชก็อดใจรอกันอีกหน่อย 14 เดือนหลังเริ่มโครงการศึกษานั่นเอง