เทคนิควิเคราะห์จุดคุ้มทุนทางธุรกิจ ที่นำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

เราทราบดีว่า การทำธุรกิจนั้นเป้าหมายก็คือทำแล้วให้มีกำไร บนเงื่อนไขว่า รายรับมากกว่ารายจ่ายก็เป็นกำไรแล้ว แต่ทางปฏิบัติธุรกิจย่อมมีรายละเอียดความซับซ้อนมากกว่านั้น

break-even-laptop-coffee-card-1000px

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการรู้ ก็คือตอนนี้เราอยู่ในจุดที่มีกำไรหรือไม่ จึงต้องค้นหาสิ่งที่เรียกว่าจุดคุ้มทุนให้เจอ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเทคนิควิเคราะห์จุดคุ้มทุนแบบเข้าใจง่าย นำไปปรับใช้กันได้

แยกแยะประเภทของต้นทุน

ในการดำเนินธุรกิจนั้นต้นทุนมีสองประเภท คือ ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) และต้นทุนแปรผัน (Variable Cost) โดยอธิบายได้ดังนี้

  • ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่มีการจ่ายคงที่ ไม่ว่าจะขายได้มากหรือน้อย เช่น ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน งบประชาสัมพันธ์
  • ต้นทุนแปรผัน คือ ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณสินค้าที่เราขายได้ เช่น ถ้าเป็นร้านกาแฟ เมล็ดกาแฟ นม น้ำตาล ที่ใช้ไปก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเราขายได้มากขึ้นเป็นสัดส่วนที่แปรผันกันตามชื่อ

สมการง่าย ๆ ของการค้นหาจุดคุ้มทุนจึงเกิดจากรายได้ ซึ่งแปรผันคูณตามยอดขายสินค้าที่เราขายออกไป หักด้วยต้นทุนแปรผัน และต้นทุนคงที่ ถ้าหากเหลือเป็นบวกนั่นก็คือกำไร

พูดอีกแบบก็คือ แม้เราตั้งราคาสินค้าที่สูงกว่าต้นทุนอยู่แล้ว เช่น มีกำไรขั้นต้น 100% ในกาแฟทุกแก้วที่ขายได้ แต่หากเรามีต้นทุนคงที่ ๆ สูงมาก เราก็จำเป็นต้องขายกาแฟให้ได้จำนวนที่สูงมากพออยู่ดี เพื่อนำกำไรมาหักกับต้นทุนคงที่ส่วนนี้นั่นเอง ไม่เช่นนั้นจะเกิดสถานการณ์ประเภท “ขายดีจัง แต่ทำไมไม่มีกำไร” ขึ้นได้

cost-1174922_1280

ระยะเวลาก็คือต้นทุน

ต้นทุนอีกชนิดหนึ่งที่ต้องนำมาคำนวณรวมด้วย แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละธุรกิจก็คือ ระยะเวลา เพราะธุรกิจล้วนต้องมีการลงทุนเริ่มต้น เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าตกแต่งร้าน ต้นทุนส่วนนี้ต้องถูกนำมาคิดรวมด้วยกับต้นทุนธุรกิจ หากแต่วิธีการนำมาคำนวณก็แล้วแต่ตัวเจ้าของเองว่ามองระยะเวลาที่ต้องการคืนทุนนานเท่าใด

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการลงทุนตกแต่งร้าน 100,000 บาท และหวังผลคืนทุนภายใน 2 ปี เช่นนี้ก็จะมีต้นทุนเพิ่มมาปีละ 50,000 บาท โดยให้นำไปคิดรวมกับต้นทุนคงที่ ซึ่งอธิบายไว้ข้างต้น

จะเห็นว่าการคิดคำนวณต้นทุนส่วนนี้ ระยะเวลา เป็นตัวทำให้กิจการมีต้นทุนมากน้อยต่างกันไป ถ้ามีระยะเวลาคืนทุนมาก ตัวหารเยอะ ต้นทุนต่อปีก็น้อยลง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการระยะเวลาคืนทุนของเจ้าของธุรกิจเอง หากตั้งสั้นก็มีความท้าทายที่ต้องสร้างยอดขายให้สูงมากตามเช่นกัน

ปัจจัยที่ต้องระวังในการบริหารต้นทุน

เพราะต้นทุนที่สูงก็ทำให้จุดคุ้มทุนสูงตาม เกิดเป็นความท้าทายที่ยากขึ้นทางธุรกิจ มีเทคนิคหลายอย่างในการบริหารจัดการต้นทุนให้ดีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • ติดตามราคาต้นทุนสินค้า – โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร แม้ต้นทุนแปรผันจะแปรตามยอดขาย แต่ถึงอย่างนั้นราคาวัตถุดิบก็มีการปรับขึ้นลง และการปรับราคาสินค้าก็ไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย ๆ จึงควรวางแผน บริหารสต็อก หรือสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อทำให้ต้นทุนนิ่งที่สุด
  • ซื้อเยอะได้ส่วนลด – นอกจากการติดตามราคาสินค้าล่วงหน้า การสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนหน่วยที่มาก ก็ย่อมสร้างอำนาจต่อรองในราคาส่วนลด เป็นการประหยัดต่อหน่วยต้นทุนอีกช่องทางหนึ่ง
  • ค่าเช่าสถานที่อาจปรับเปลี่ยน – ถึงแม้ค่าเช่าสถานที่จะเป็นต้นทุนคงที่ แต่อย่าลืมว่าค่าเช่าสามารถปรับขึ้นได้เช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป การทำสัญญาล่วงหน้า (ซึ่งก็ต้องมีเงินสดมาจ่ายก่อน) ช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้บ้าง

การบริหารต้นทุนที่ดี จะช่วยให้เรามีตัวเลขที่ชัดเจนขึ้น จนสามารถคาดการณ์ยอดขายที่เหมาะสม กำหนดเป้าหมายที่ต้องบรรลุทางธุรกิจ ตลอดจนวางแผนการตลาดได้อย่างถูกต้องถูกทิศทาง

หากใครสนใจอ่านเคล็ดลับดี ๆ ในการดำเนินธุรกิจ การวางแผน ตลอดจนการลงทุน ลองเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Krungsri GURU/ Investment