3 สิ่งสำคัญ ที่ธุรกิจแบบครอบครัวต้องให้ความสนใจและระมัดระวัง

ธุรกิจครอบครัวนั้น ถือเป็นรากฐานที่มีอยู่ในระบบธุรกิจของเมืองไทยกันมายาวนาน มีคำกล่าวว่าธุรกิจครอบครัวนั้นสามารถดำเนินต่อเนื่องได้มากที่สุดเพียง 3 รุ่น แต่ก็มีหลายธุรกิจที่สามารถผ่านจุดนั้นได้ อะไรคือปัจจัยสำคัญ บทความนี้มีมานำเสนอกัน

chair_main

การทำธุรกิจแบบครอบครัวนั้นมีข้อดีหลายประการ อีกทั้งยังสามารถส่งต่อกันได้ในตระกูลจากรุ่นลูกถึงรุ่นหลาน อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องสนใจและระมัดระวัง หากต้องการให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้ มีการเติบโต และประสบความสำเร็จในระยะยาว

  1. อัพเดตเทคโนโลยีให้เท่าทันในอุตสาหกรรม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งสำคัญที่เสริมศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ก็คือการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในธุรกิจ การนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาในธุรกิจครอบครัวหากทำได้ง่ายก็ดีไป แต่หลายครั้งมักเกิดแรงต่อต้าน เนื่องจากมันมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยระบบอาวุโสในธุรกิจครอบครัวทำให้หลายครั้งสิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ ด้วยถือว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน และเชื่อว่าสิ่งที่เคยทำเคยปฏิบัติก็ถูกต้องดีอยู่แล้ว

เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจครอบครัว ที่จะต้องเพิ่มความกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะลงทุน โดยหวังผลเลิศในระยะยาว ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นภาพ เราก็เห็นอุตสาหกรรมมีเกิดขึ้นและดับไป บริษัทระดับร้อยปีก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่ต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีสามารถเสริมเขี้ยวเล็บธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน คุณภาพ และเวลา ที่ล้วนเป็นปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจ

  1. การแบ่งหน้าที่และผู้สืบทอด

ธุรกิจครอบครัวนั้นอาศัยกลไกอำนาจบริหารจัดการ โดยใช้ความสัมพันธ์ในครอบครัว แตกต่างจากธุรกิจสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างองค์กรชัดเจน สิ่งนี้เป็นความแตกต่าง และถือว่าเป็นจุดด้อยของธุรกิจครอบครัว เพราะต้องไม่ลืมว่ารุ่นลูกรุ่นหลาน สามารถสร้างทางเลือกโดยไปทำธุรกิจใหม่เอง หรือไปเป็นลูกจ้างบริษัทที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน มากกว่าทำงานในครอบครัว

การแก้ปัญหาดังกล่าวโดยจัดโครงสร้างอำนาจ และมอบตำแหน่งหน้าที่ให้ชัดเจนในธุรกิจครอบครัว ก็ไม่ใช่ทางออกทั้งหมด เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นซับซ้อน สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจ หาเวลาพูดคุยกันโดยตลอด รวมถึงข้อสำคัญคือการตกลงแบ่งผลประโยชน์ให้ชัดเจนยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นอกเหนือจากการแบ่งหน้าที่และผลประโยชน์ให้ชัดเจน ธุรกิจแต่ละรุ่นก็ควรวางแผนสืบทอดไว้ ในการส่งต่อจากรุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 นั้นควรยังเป็นคนในครอบครัว ซึ่งต้องเลือกจากผู้ที่มีความสามารถ จากนั้นรุ่น 2 ไปยัง 3 ซึ่งธุรกิจซึ่งอาจมีการเติบโตมากขึ้น อาจเริ่มให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมได้

pexels-photo-28462

  1. ดูแลลูกจ้างที่มีความสามารถ

ลองมองในมุมมองลูกจ้างดูบ้าง หากเขาทำงานในองค์กรที่เป็นระบบชัดเจน พวกเขาก็สามารถไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ เรื่องนี้เป็นความท้าทายของธุรกิจที่มีความเป็นครอบครัวสูง เพราะถึงจุดหนึ่งลูกจ้างที่มีความสามารถจะไม่อยู่ทำงานต่อ เพราะเกิดการตันในตำแหน่งหน้าที่

ธุรกิจต้องเติบโต และลำพังคนในครอบครัวอาจไม่เพียงพอต่อการรองรับทุกความสามารถในการเติบโต หากต้องการให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง ก็ต้องวางแผนในการพัฒนาบุคลากร และมีการวางแผนการเติบโตในตำแหน่งงาน กล้าที่จะรักษาบุคลากรที่เก่งเอาไว้ โดยให้โอกาสเติบโตในหน้าที่ความรับผิดชอบ ร่วมไปกับบุคคลในครอบครัว

เรื่องนี้เป็นความท้าทายและไม่ง่ายนัก เพราะฝืนความรู้สึกของธุรกิจครอบครัวอย่างมาก แต่หากวางแผนจัดการและก้าวข้ามไปได้ ธุรกิจจะแข็งแกร่งและมีทีมงานที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างดี

โดยสรุปแล้วจะเห็นว่าแนวทางสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัว สามารถดำเนินงานเปลี่ยนผ่านไปได้ดีท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจ ก็คือการยอมรับความเปลี่ยนแปลง กล้าที่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เปลี่ยนทัศนคติในการบริหารจัดการ เหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง ผู้ที่สนใจก็ควรอัพเดตแนวโน้มธุรกิจ เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจครอบครัวได้ อย่างที่เว็บไซต์กรุงศรีกูรู ก็มีบทความน่าสนใจมากมาย อาทิ กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจให้ยั่งยืน หรือแนวทางการรับมือกับ AEC อย่างชาญฉลาด รวมทั้งบทความน่าสนใจอีกมากให้ได้ติดตามกัน

เริ่มต้นธุรกิจ #SMEs ลงทุนอย่างไรให้เสี่ยงน้อย