อัพเดตข้อเสนอขนส่งสาธารณะโคราช เปลี่ยนมาเป็นรถรางเบา LRT ให้บริการ 3 สายหลักรอบเมืองโคราช

We Korat มีข้อมูลอัพเดตเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเมืองโคราช ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดนั้น จะพิจารณาใช้รถรางเบา แบบล้อเหล็ก (LRT) เปลี่ยนจากแผนเดิมที่ใช้สกายบัส ตามที่เราเคยรายงานก่อนหน้านี้ มาดูรายละเอียดกัน

แผนขนส่งในเมืองนครราชสีมา ที่เชื่อมต่อโครงการในอนาคต ทั้งรถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์
แผนขนส่งในเมืองนครราชสีมา ที่เชื่อมต่อโครงการในอนาคต ทั้งรถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์

โดยผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้พิจารณารูปแบบขนส่งมวลชนสาธารณะหลายรูปแบบที่เลือกใช้กันทั่วโลก ได้ 3 แนวทางสุดท้าย ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ, รถขนส่งมวลชนขนาดเบาด้วยรางแบบล้อยาง และรถขนส่งมวลชนขนาดเบาด้วยรางแบบล้อเหล็ก ซึ่งจากการเปรียบเทียบพบว่ารูปแบบ รถขนส่งมวลชนขนาดเบาด้วยรางแบบล้อเหล็ก (LRT ล้อเหล็ก) มีความเหมาะสมที่สุด

  • มีความถี่ 15 นาที/คัน และเพิ่มเป็น 10 นาที/คัน ในชั่วโมงเร่งด่วน
  • อายุการใช้งาน 30 ปี
  • เงินลงทุน 19,650 ล้านบาท
เปรียบเทียบรูปแบบขนส่งสาธารณะต่างๆ
เปรียบเทียบรูปแบบขนส่งสาธารณะต่างๆ
LRT เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
LRT เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

สำหรับเส้นทางให้บริการนั้น แบ่งได้เป็น 3 สายหลัก โดยใช้วิธีการให้บริการเป็นเฟสๆ ในแต่ละช่วงสาย ดังนี้

  • สายสีเขียว เฟสแรก : ตลาดเซฟวัน – สี่แยกปักธงชัย – ปึงหงี่เชียง – อู่เชิดชัย – ถนนสืบศิริ – วัดใหม่อัมพวัน – สวนภูมิรักษ์ – ตลาดสวายเรียง – สถานีรถไฟนครราชสีมา – ห้าแยกหัวรถไฟ – เทศบาลนครนครราชสีมา – ตลาดแม่กิมเฮง – อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี – โรงเรียนสุรนารีวิทยา – มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา – โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส – สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ (ตัวหนาคือสถานีเชื่อมต่อ หรือ Interchange)
  • ส่วนต่อขยายสายสีเขียว มีสองเส้นทางคือ : ต่อขยายจากตลาดเซฟวัน จนถึงห้วยบ้านยาง และต่อขยาย จากบ้านนารีสวัสดิ์ ถึงสำนักงานขนส่งจังหวัดฯ แห่งที่ 2
ตัวอย่าง LRT รถราง ในต่างประเทศ
ตัวอย่าง LRT รถราง ในต่างประเทศ

สายสีเขียวจะเป็นการขนส่งประชาชน จากสองทิศของตัวเมือง คือทางเซฟวันและบ้านเกาะ ส่วนสายสีม่วง จะเป็นการเกาะตามแนวถนนมิตรภาพ ซึ่งมีห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง รายละเอียดดังนี้

  • สายสีม่วง เฟสแรก : ตลาดเซฟวัน – สี่แยกปักธงชัย – ปึงหงี่เชียง – อู่เชิดชัย – โรงแรมสีมาธานี – โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา – เดอะมอลล์ – เทอร์มินอล 21สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา 2 (บขส. ใหม่) – แม็คโคร – สี่แยกประโดก – เซ็นทรัล – มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล – ซอยสุรนารายณ์ 13 (ไนท์บ้านเกาะ) – สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ (ตัวหนาคือสถานีเชื่อมต่อ หรือ Interchange)
  • ส่วนต่อขยายสายสีม่วง เริ่มจาก มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ไปถึงสี่แยกจอหอ และสิ้นสุดที่ค่ายสุรนารายณ์

นอกเหนือจากรอบตัวเมือง ด้วยประโยชน์ของรถราง LRT ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม ทำให้สามารถวิ่งเข้ามาในเขตคูเมืองได้ด้วย จึงมีเส้นทางสายสีส้ม รายละเอียดดังนี้

  • สายสีส้ม เฟสแรก เส้นทางวิ่งเป็นลูปวน : อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี – สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา 1 (บขส. เก่า) – เทอร์มินอล 21 – สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา 2 (บขส. ใหม่) – แม็คโคร – สี่แยกประโดก – โรงแรมวีวัน – โรงพยาบาลมหานครราชสีมา – วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา – ถนนชุมพล – ศาลากลางจังหวัด – ถนนมหาดไทย – แยกถนนสรรพสิทธิ์ – ถนนพลล้าน – ถนนอัษฎางค์ – ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าเก่า – อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ตัวหนาคือสถานีเชื่อมต่อ หรือ Interchange)
  • ส่วนต่อขยายสายสีส้ม จะขยายต่อจาก แยกถนนสรรพสิทธิ์ ไปทางหัวทะเลจนถึง ดูโฮม
ภาพรวมข้อเสนอเส้นทางรถราง LRT (กดดูที่ภาพเพื่อไปยังภาพเต็ม)
ภาพรวมข้อเสนอเส้นทางรถราง LRT (กดดูที่ภาพเพื่อไปยังภาพเต็ม)

ทั้งนี้ต้องเน้นว่ารูปแบบนี้ยังเป็นการนำเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย โดยต้องผ่านกระบวนการศึกษาและพิจารณาผลกระทบต่างๆ และรายงานผลไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เพื่อเสนอพิจารณาในลำดับถัดไป

เรียบเรียงจาก โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยทีมงาน We Korat