เผยร่างแผนที่เส้นทางรถราง LRT เมืองโคราช พร้อมรายชื่อสถานีในเขตเมืองนครราชสีมา

We Korat ได้อัพเดตข้อมูลผลการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองโคราชมาโดยตลอด ล่าสุดมีการจัดสัมมนาระหว่างกาล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของการวางเส้นทางรถรางเบา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของอนาคตเมืองมากขึ้น จึงมานำเสนอกัน

จากผลการศึกษาในครั้งที่แล้ว รูปแบบขนส่งที่เลือกใช้คือ ระบบรถรางเบาระดับพื้น (High Floor) เป็นระบบหลัก แล้วเสริมด้วยระบบรถโดยสาร โดยมีหลักการคือ

  • ให้การขนส่งรวดเร็ว ตรงเวลา
  • ช่องทางการจราจรของรถราง ไม่ถูกกีดขวางด้วยยานพาหนะใดๆ
  • รถรางได้รับความสำคัญในการใช้สัญญาณไฟจราจรก่อนพาหนะ
ตัวอย่างภาพเรนเดอร์ บริเวณตลาดแม่กิมเฮง ซึ่งไม่รบกวนเส้นทางการจราจร

สำหรับแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะนั้น We Korat เคยนำเสนอภาพคร่าวๆ ของเส้นทางแล้ว แต่ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอเอกสารที่มีภาพชัดเจนมากขึ้นของเส้นทางต่างๆ ดังภาพ

แผนที่เส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตเมืองนครราชสีมา

ในโครงการก่อสร้างระยะที่ 1 จะดำเนินการในสายสีส้มเข้ม (โรงเรียนเทศบาล 1 – หน้าย่าโม – เทอร์มินอล 21 – ศาลากลาง) และสายสีเขียวเข้ม (เซฟวัน – เดอะมอลล์ – หน้าย่าโม – โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส) มีรายละเอียดสถานีดังนี้

รายละเอียดสถานีของโครงการก่อสร้างระยะที่ 1

เมื่อจบระยะที่ 1 จะเป็นการก่อสร้างระยะที่ 2 ในเส้นทางสายสีม่วง เส้นทางเซฟวัน – เดอะมอลล์ – เทอร์มินอล 21 – เซ็นทรัล – สุรนารายณ์

รายละเอียดสถานีของโครงการก่อสร้างระยะที่ 2

ส่วนระยะที่ 3 จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายของเส้นทางสายต่างๆ ไปถึงจอหอ, ดูโฮม, ชลประทาน

เริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่? เชื่อว่าคำถามนี้หลายคนคงสงสัย การก่อสร้างนั้น ในเฟสแรก เส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เฟสที่สองสายสีม่วง ปี 2566-2568 และเฟสที่สาม ส่วนต่อขยายเส้นทางต่างๆ ปี 2569-2571

จะเห็นว่าระยะเวลาที่ สนข. ประเมินไว้อยู่ราว 10 ปี ซึ่งจะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งปัจจัยด้านงบประมาณ และการพัฒนาเมืองประกอบกัน อาทิ การจัดการจราจรใหม่ การก่อสร้างถนนวงแหวน ซึ่งจะเชื่อมต่อทั้งหมดให้เป็นระบบ โดยประเมินงบประมาณโครงการนี้ราว 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าแผนนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปทั้งหมด ยังมีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่ แล้วจากนั้นในลำดับถัดไป สนข. จะนำเสนอแผนที่เป็นข้อสรุปให้กับรัฐบาลเพื่อของบประมาณสนับสนุน และหากได้รับการอนุมัติก็จะทำแผนฉบับสมบูรณ์เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

เรียบเรียงจาก : โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา และ หนังสือพิมพ์คนอีสาน