ดีแล้วจริงหรือ? Korat Skybus รถเมล์ลอยฟ้า คุ้มค่าแค่ไหนสำหรับเมืองโคราช

WeKorat เคยนำเสนอเรื่องแผนระบบขนส่งมวลชนของ อ.เมืองนครราชสีมา อย่างละเอียดไปแล้วในบทความ เปิดแผน KRT ระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้าของ อ.เมือง นครราชสีมา

ที่มาที่ไปของ Korat Skybus

ความเดิมตอนก่อนคือคณะทำงานของเทศบาลนครนครราชสีมา เสนอรูปแบบการขนส่งมวลชนที่เป็นไปได้มาทั้งหมด 6 แบบคือ

  1. ระบบขนส่งมวลชนขนาดหนัก (MRT) แบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS และรถใต้ดิน MRT
  2. รถไฟเบา (Ligh Rapid Train) มีทั้งวิ่งบนดินและวิ่งบนทางยกระดับ
  3. รถราง (TRAM) คล้ายรถไฟเบา แต่ต้องมีสายไฟคู่กันไปตามรางตลอด
  4. รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) รถไฟลอยฟ้าขนาดเบา
  5. รถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) วิ่งบนถนนเลนพิเศษ เหมือน BRT ใน กทม.
  6. รถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) วิ่งบนถนนยกระดับลอยฟ้า

ผลการประเมินของที่ปรึกษายกให้รถเมล์ด่วน BRT แบบยกระดับ (แบบที่ 6) มีคะแนนรวมสูงสุด ตามด้วย Monorail ที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง

อธิบายง่ายๆ คือเทศบาลโคราชจะสร้าง “ถนนยกระดับ” เหนือเกาะกลางถนนมิตรภาพช่วงในตัวเมือง แล้วเอารถเมล์ขึ้นไปวิ่งเป็นรถเมล์ลอยฟ้านั่นเอง ซึ่งทางเทศบาลใช้ชื่อเรียกว่า “สกายบัส” (Skybus) เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ

องค์ประกอบของ KRT
องค์ประกอบของ KRT
ตัวอย่างสถานี KRT
ตัวอย่างสถานี KRT
ตัวอย่างราง KRT
ตัวอย่างราง KRT

เมื่อเลือกระบบการขนส่งได้แล้ว นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้เสนอเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีมี  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 และที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรูปแบบโครงการ โดยมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบประมาณศึกษาและออกแบบต่อไป

ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ โดยจัดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมานี้

ความเห็นคัดค้าน-กังขา-สงสัย

ความเห็นจากการสัมมนามีข้อสงสัยและคัดค้านโครงการ Skybus หลายจุด ดังนี้

การสร้างทางยกระดับอาจไม่จำเป็น

ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน แสดงความเห็นผ่าน Facebook ว่าโมเดลของ Sky Bus นำมาจากเมืองนาโงย่าของประเทศญี่ปุ่น

แต่กรณีของนาโงย่าไม่ได้สร้างทางยกระดับตลอดทั้งเส้น สร้างเฉพาะเขตเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่นเท่านั้น ส่วนในพื้นที่นอกเมืองก็วิ่งบนถนนปกติ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าก่อสร้างมาก และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสถานีได้ง่าย ไม่ต้องเดินขึ้นบันไดไปสถานี

การเลือกใช้ระบบ BRT มีราคาถูกที่สุดจริง แต่ BRT มีโมเดลย่อยมากมาย ต้องพิจารณาด้วยว่าควรเลือก BRT แบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

ปัญหาทัศนียภาพ-มลพิษ

นายอรชัย ปุณณะนิธิ ประธานมูลนิธิพุทธธรรม ๓๑ นครราชสีมา (ฮุก ๓๑) และผู้บริหารโรงแรมปัญจดารา ตั้งคำถามเรื่องทัศนียภาพของเมืองที่พื้นที่ที่สร้างทางยกระดับ และปัญหาเรื่องมลพิษที่ร้านค้าหรือบ้านเรือนใต้ทางยกระดับอาจได้รับผลกระทบ

รถรางอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เสนอว่าแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของเมืองใหญ่ในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ภูเก็ต ต่างก็เลือกระบบ Tram หรือรถราง โดยแชร์พื้นที่ถนนให้รถยนต์วิ่งได้ด้วย จึงเสนอให้พิจารณาระบบ Tram อีกครั้ง

ในกรณีที่เลือก Sky Bus ลอยฟ้า อาจมีปัญหาว่าถ้าคนใช้น้อยอาจไม่คุ้มค่าลงทุนก่อสร้างทางลอยฟ้า

ข้อมูลจาก Korat Daily และประชาชาติธุรกิจ