สัมภาษณ์นักศึกษา เจ้าของผลงานดัง แผนที่รถสองแถวเมืองโคราช

จากที่เป็นกระแสบอกต่อในโซเชียลสำหรับโปรเจกต์ แผนที่รถสองแถวโคราช ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์และหลายคนก็รอคอยกัน ทาง We Korat ก็ไม่รอช้า เราได้ไปสัมภาษณ์ คุณแคทรียา นานอก (ปิ๊กกี้) นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เจ้าของโปรเจกต์ดีๆ นี้ ถึงที่มาที่ไป และแผนพัฒนาต่อยอดของโครงการนี้กัน

interview_2taew_bus_korat_map_creator

ที่มาที่ไปของโครงการนี้

น้องปิ๊กกี้เล่าเราฟังว่า พื้นเพนั้นเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ แต่มาเรียนที่จังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่ชั้น ม.1 จึงผูกพันกับโคราชและคุ้นเคยกับการโดยสารรถสองแถวไปยังที่ต่างๆ เพราะสะดวกดี เมื่อได้มาศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ มทส. และมีโปรเจกต์ที่ต้องทำก่อนจบการศึกษา 2 งาน ก็เลือกหนึ่งงานเป็นการทำแผนที่รถสองแถวโคราช โดยมี อ.ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นที่ปรึกษา

นางสาวแคทรียา นานอก เจ้าของโปรเจกต์แผนที่รถ2แถว (ซ้าย) และ อ.ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล ที่ปรึกษาโครงการ (ขวา)
นางสาวแคทรียา นานอก เจ้าของโปรเจกต์แผนที่รถ2แถว (ซ้าย) และ อ.ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล ที่ปรึกษาโครงการ (ขวา)

แรงบันดาลใจของแผนที่รถสองแถวนี้เกิดจากการได้เห็นข่าวนักศึกษาอายุ 18 ปี วาดแผนที่รถเมล์ ขสมก. ในกรุงเทพฯ ด้วยลายมือเมื่อปีก่อน ประกอบกับชอบในการออกแบบอยู่แล้วจึงอยากทำแผนที่ลักษณะเดียวกันนี้ แต่เป็นเส้นทางของรถสองแถวในโคราช

กว่าจะออกมาเป็นแผนที่นี้ไม่ง่ายเลย

ในการพัฒนาแผนที่นี้ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูล ซึ่งน้องปิ๊กกี้ก็ใช้วิธีนั่งรถสองแถวด้วยตนเองเพื่อเก็บข้อมูลเส้นทางสายต่างๆ และสอบถามข้อมูลจากเพื่อนๆ เพิ่มเติม รวมถึงติดต่อขอข้อมูลเส้นทางจากกรมการขนส่งฯ ก่อนนำมาลงกำหนดรายละเอียดสำคัญ และออกแบบเป็นเส้นทางแผนที่ ซึ่งก็ไม่ได้วาดตามแนวแผนที่เป๊ะๆ แต่ปรับออกมาเป็นรูปแบบที่ผู้ใช้งานเข้าใจได้ง่าย

การจะได้แผนที่ซึ่งดูได้ง่ายชัดเจน ก็ต้องมีการศึกษารูปแบบแผนที่เส้นทางของในต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสังเกตและเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งยังคงปรับปรุงอยู่ตลอด

หน้าตาแผนที่รถ 2 แถว ในการนำเสนอผลงาน
หน้าตาแผนที่รถ 2 แถว ในการนำเสนอผลงาน

สิ่งน่าสนใจในสองแถวโคราช

น้องปิ๊กกี้ และอาจารย์สรชัย ยังให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการเก็บข้อมูลรถสองแถว เช่นเรื่องการขับรถเร็วที่หลายคนบ่น ว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากจากการที่รถต้องทำเวลา เพราะมีการบันทึกเวลาไว้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการจราจรปัจจุบันนัก ปัญหานี้ยังอาจส่งผลให้รถสองแถวเลือกวิ่งตัดซอยนอกเส้นทางเพื่อทำเวลาด้วย

อีกปัญหาที่พบคือการระบุสายที่ตัวรถ ซึ่งคนที่โดยสารเป็นประจำก็มักจดจำจากสีรถจนคุ้นชิน แต่กับคนที่ไม่คุ้นนั้น จะพบว่าการมองสีและหาตัวเลขที่ระบุสายรถสองแถวนั้นค่อนข้างยาก แถมบางสายใช้ตัวอักษรภาษาไทยในการระบุสาย ก็ลำบากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีก

2taew_interview_korat03

อาจารย์สรชัยยังเล่าแนวคิดให้ฟังว่าการมีแผนที่ซึ่งถูกต้องและใช้งานได้สำหรับเมืองนั้น เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานไม่ใช่แค่กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่กับคนในพื้นที่เองก็จำเป็น อย่างในประเทศอังกฤษนั้นก็มีการแจกแผนที่ให้กับประชาชนในเมือง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่นอกเส้นทางที่ใช้สัญจรประจำ

คงต้องรอกันสักหน่อยจึงได้ใช้งาน

มาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วเราจะมีแผนที่รถสองแถวใช้กันเป็นทางการเมื่อใด ซึ่ง ณ จุดนี้ต้องบอกว่ารอกันอีกสักหน่อย เพราะแผนที่ที่ได้นั้น ยังมีปัญหาการใช้งานจริงในหลายเส้นทาง เพราะข้อมูลที่ได้จากการนั่งรถโดยสารเองนั้นไม่ตรงกับเส้นทางเดินรถที่กรมการขนส่งฯ มีอยู่เพื่ออ้างอิง จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันและกำหนดข้อสรุปว่าเส้นทางปัจจุบันที่ถูกต้องนั้นเป็นแบบไหนกันแน่ หากรีบเผยแพร่ออกไปแล้วเส้นทางเดินรถไม่ตรง ไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริงก็คงไม่มีประโยชน์

2taew_interview_korat02

ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนที่ทางผู้ใหญ่กำลังหารือกับกรมการขนส่งฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุป จากนั้นก็จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่แผนที่ออกมาให้ใช้งานต่อสาธารณะต่อไป ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยทาง มทส. ก็ได้เตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนไว้แล้ว

นอกจากการเผยแพร่ในรูปแบบแผนที่พิมพ์แจก ยังมีแผนที่จะนำเสนอในรูปแบบออนไลน์ จนถึงแอพพลิเคชันบนมือถือด้วยในขั้นตอนต่อไป

โครงการใหม่ๆ ในอนาคต

เมื่อสอบถามถึงโครงการอื่นจากคณะนิเทศศาสตร์ในอนาคต อาจารย์สรชัยเล่าว่า ตอนนี้ทางคณะนิเทศศาสตร์ มทส. ได้ร่วมมือกับท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการสื่อนำเสนอต่างๆ อาทิ การทำแผนประชาสัมพันธ์หมู่บ้านด่านเกวียน หรือโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทย-ญวน ที่ร่วมมือกับทางอำเภอสีคิ้ว

ก็ถือเป็นโครงการดีมีประโยชน์กับเมืองโคราช โดยฝีมือของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่รอให้ชาวโคราชได้ใช้งานกันอย่างเป็นทางการต่อไป