[เลือกตั้ง 57] นโยบายพรรคชาติพัฒนา สำหรับคนโคราช

การเมืองระดับชาติยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 หรือไม่ แต่ “พรรคชาติพัฒนา” ก็เดินหน้าหาเสียงแล้ว โดยแจกแผ่นพับแนะนำนโยบาย ซึ่งก็มีทั้งนโยบายระดับชาติ นโยบายเพื่อคนกรุงเทพ และในฐานะพรรคที่มีฐานที่มั่นในโคราช ก็ย่อมมี “นโยบายเพื่อคนโคราช” ด้วย

ทีมงาน WeKorat ได้รับแผ่นพับแนะนำนโยบายของพรรคชาติพัฒนา (เบอร์ 1 แต่สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่ได้ลง ส.ส. นะครับรอบนี้) จึงนำ “นโยบายเพื่อคนโคราช” มาเผยแพร่ต่อครับ

เลือกตั้ง 57 พรรคชาติพัฒนา
ในแผ่นพับเขียนชัดเจนว่า นายสุวัจน์ มิใช่ผู้สมัคร ส.ส.

นโยบายเพื่อคนโคราชในแผ่นพับมีทั้งหมด 13 ข้อ แต่ใน เว็บไซต์พรรคชาติพัฒนา มีทั้งหมด 14 ข้อ (เพิ่มข้อ 3. สร้างถนนวงแหวนรอบเมือง 100 กิโลเมตร เข้ามา)

1.เร่งรัดการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพ-โคราช

เร่งรัดการก่อสร้างทาหลวงพิเศษระหว่างเมืองจากกรุงเทพถึงโคราชช่วงบางปะอิน (บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน) ถึงนคราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. ค่าก่อสร้างประมาณแปดหมื่นล้าน โดยก่อสร้างเป็นถนน 4-6 ช่องจราจร ใช้ความเร็ว 120กม./ชม. มีการควบคุมจุดเข้าออก ไม่มีจุดตัดและทางแยกในระดับราบ มีทางแยกต่างระดับ เพื่อความปลอดภัย เส้นทางตัดใหม่โดยเวนคืนที่ดิน(ตามแนวแผนที่) จะแก้ไขปัญหาการจราจรเหลือเพียง 2 ชั่วโมงจาก กรุงเทพ-โคราช

2. ขยายถนนBy-pass

จากสามแยกปักธงชัย-จอหอ เป็น 6 ช่องจราจร รองรับมอเตอร์เวย์ และการขยายเมืองโคราชในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร

3. สร้างวงแหวนรอบเมือง

ระยะทางประมาณ 100กม.ให้ครบ ปัจจุบันมีเพียงด้านใต้ จากโคกกรวด-แยก304(ยาวประมาณ 18 กม.) เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง

4. เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช

เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม. ค่าก่อสร้างใช้งบประมาณ หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท โดยก่อสร้างในเขตทางรถไฟเดิม (ยกเว้นช่วงลำตะคลองและบริเวณโรงปูนแก่งคอยที่มีการเปลี่ยนแนวและเจาะอุโมงค์ 25 กม.) โดยเริ่มต้นจากบางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา-สระบุรี-ปากช่อง-โคราช โดยจะมีสถานีจอด5 แห่ง คือดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง (สร้างสถานีใหม่) และนครราชสีมา (สถานีราชสีมาเดิม) การก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับในช่วงปีแรกของการเปิดเส้นทางจะให้บริการหกโมงเช้าถึงเที่ยงคืนโดยมีขบวนรถ14ขบวนแต่ละขบวนมี 8 ผู้โดยสาร สามารถรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 650 คน ชั่วโมงเร่งด่วนจะออกทุก 30 นาที ชั่วโมงปกติจะอออกชั่วโมงละ 1 ขบวน เฉลี่ยแล้วจะสามารถขนผู้โดยสารได้วันละประมาณไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน ค่าโดยสารจะแบ่งตามชั้น ชั้นV.I.P. ประมาณ 7 บาท/กม. ชั้น 1 ประมาณ 4.50 บาท/กม. และชั้นธรรมดา ประมาณ2.00บาท/กม. ขณะนี้กำลังยื่น EIA ที่สผ.และออกแบบรายละเอียด โครงการนี้จะสร้างความสะดวกสบายและประหยัดเวลาเพราะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 12 นาทีเท่านั้น (ด้วยความเร็วการออกแบบ 350 กม./ชั่วโมง จะใช้ความเร็วจริงที่ 350 กม./ชั่วโมง) จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเมืองโคราช การลงทุน การท่องเที่ยว และเชื่อมโยงธุรกิจการค้า และสามารถเชื่อมโคราชกับ กรุงเทพอย่างใกล้ชิด ในอนาคตสามารถขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโคราชสู่อำเภอบัวใหญ่ ซึ่งจะใช้งบประมาณอีก ประมาณสามหมื่นล้านบาท และสามารถต่อเส้นทางไปถึงหนองคายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในภาคอีสานทั้งภาคซึ่งจะใช้เงินลงทุน สามแสนล้านบาท ในระยะทาง 658 กม. จากโคราชสู่หนองคาย

5. เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟรางคู่ จากมาบกระเบา สระบุรี-โคราช

ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟจากรุงเทพ-โคราช-บัวใหญ่-หนองคาย และเป็นรถไฟรางคู่จากกรุงเทพ-สระบุรี (บริเวณสถานีมาบกระเบา) จะผลักดันให้มีการขยายรถไฟรางเดี่ยวเป็นรางคู่จากมาบกระเบาถึงโคราช ระยะทางประมาณ 175 กม. ด้วยงบประมาณสี่หมื่นห้าพันล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จความเร็วของการเดินทางจะเพิ่มจาก 42กม./ชม. เป็น 90กม./ชม. จะสามารถขนสินค้าและผู้โดยสารมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ในการขนส่งสินค้าเกษตร เช่น มัน น้ำตาล ข้าว ยางและสินค้าปูนซีเมนต์ ในอนาคต สามรถต่อเส้นทางรถไฟรางคู่จากโคราช-บัวใหญ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เชื่อมโยงเข้าลาว ข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวอีสานในการเดินทางและขยายเศรษฐกิจของอีสานสู่อินโดจีน

6. ปรับปรุงเส้นทางสาย 304 โคราช-แหลมฉบัง

เพื่อเปิดอีสานสู่การส่งออกที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง

7. เร่งรัดการก่อสร้างท่อแก๊สธรรมชาติจาก กรุงเทพ-สระบุรี

ให้ต่อถึงโคราช เพื่อเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

8. วางโครงสร้างระบบชลประทานใหม่

เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเป็นพื้นฐานให้กับการเกษตรได้เพียงพอ

9. โคราชประตูสู่ AEC

เพื่อให้มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในภาคอีสานและโคราชเป็นฐานการผลิตใหม่ของอีสาน

10. โคราชเมืองพลังงาน

เน้นการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม พลังงานจากสินค้าเกษตร คือ เอทานอลจากอ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อให้โคราชเป็นฐานเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ และยกระดับราคาสินค้าเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกร

11. โคราชเมืองท่องเที่ยว

พัฒนาแหล่งไม้กลายเป็นหิน แหล่งช้างโบราณ แหล่งไดโนเสาร์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะ Dino Park พัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีสภาพสมบูรณ์ เช่น เขาใหญ่ พิมาย ด่านเกวียน ไทรงาม วังน้ำเขียว ผ้าไหมปักธงชัย ขนมจีนบ้านประโดก วิหารกลางน้ำหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ หลวงพ่อโตที่สีคิ้ว อนุสาวรีย์คุณย่าโม เขาใหญ่มรดกโลก

12. โคราชเมืองกีฬา

จัดการแข่งขัยกีฬาระดับโลกที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ หรือกีฬาระดับทวีป สร้าง Mini Sport Complex ให้ทั่วถึง สร้างทีมกีฬาของจังหวัดให้มีชื่อเสียง เช่น สโมสรฟุตบอลสวาทแคท ทีมวอลเล่ย์บอล มวย เป็นต้น

13. โคราชครัวโลก

สร้างอาหารโคราชสู่ความเป็นตลาดสากล สร้างโคราชให้เป็นเมืองผลิตอาหารป้อนโลกด้วยนโยบาย Food Valley

14. ผ้าไหมปักธงชัย ผ้าไหมของโลก

เพื่อส่งออกผลผลิตผ้าไหมของโคราชที่ อ.ปักธงชัยไปยังตลาดโลก สร้างความร่ำรวยให้ผู้ประกอบอาชีพผลิตผ้าไหมและผ้าไหมของ อ.ปักธงชัย

นโยบาย พรรคชาติพัฒนา เลือกตั้ง 2557 (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
นโยบาย พรรคชาติพัฒนา เลือกตั้ง 2557 (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
นโยบาย พรรคชาติพัฒนา เลือกตั้ง 2557 (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
นโยบาย พรรคชาติพัฒนา เลือกตั้ง 2557 (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)