แยกประโดก (บางคนเรียก แยกพีกาซัส) เป็นสี่แยกสำคัญของ จ.นครราชสีมา เพราะเป็นจุดตัดระหว่างถนนมิตรภาพ กับถนนเทศบาล (ไปโรงพยาบาลมหาราช) แต่ปัจจุบันมีสภาพการจราจรที่คับคั่งมากขึ้น รถที่ผ่านแยกนี้จึงติดไฟแดงกันนาน
กรมทางหลวงจึงเริ่มโครงการศึกษาว่าจะออกแบบทางต่างระดับของแยกนี้อย่างไร โดยจะสร้างตามแนวถนนมิตรภาพ (พื้นที่สีดำในภาพ)
โครงการนี้กรมทางหลวงได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และ บริษัท กรุงเทพเอ็นยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้ของโครงการเป็นเวลา 6 เดือน 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557
รายละเอียดของโครงการสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ pradokeic.com
ขอบเขตการศึกษาของโครงการมี 7 ประเด็น
- การทบทวนรายงานและการศึกษาเดิม
- การศึกษารูปแบบทางเลือกของโครงการ
- การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง
- การศึกษาด้านวิศวกรรม
- การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Study)
- การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation)
- การศึกษาด้านงบประมาณและการลงทุน
//www.youtube.com/watch?v=RJtkloCgCYg
ทางเลือกในการสร้างทางต่างระดับข้ามแยกประโดก
ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 แนวทาง
รูปแบบทางเลือกที่ 1 สะพานลอย (Overpass)
ลักษณะโครงสร้างเป็นทางยกระดับหรือสะพานข้ามแยกประโดก ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีระดับความสูงประมาณ 8.00 เมตร ความยาวประมาณ 700 เมตร มีช่องทางจราจรขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น 3 ช่องจราจร และทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดสระบุรี 3 ช่องจราจร ทิศจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) โดยสะพานลอย (Overpass) (สีแดง) ยกระดับข้ามทางแยกประโดก แล้วจึงยกตัวลงเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อไปจังหวัดขอนแก่น ส่วนทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวังหวัดสระบุรี ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยสะพานลอย (Overpass) (สีแดง) ยกระดับข้ามทางแยกประโดก เพื่อไปจังหวัดสระบุรี
แนวทางนี้มีข้อดีคือค่าก่อสร้างต่ำกว่าการสร้างอุโมงค์ทางลอด แต่รถยนต์เลี้ยวขวาข้ามแยกต้องรอสัญญาณไฟ และการสร้างสะพานจะบดบังทัศนียภาพโดยรอบ
รูปแบบทางเลือกที่ 2 ทางลอด (Underpass)
ลักษณะโครงสร้างเป็นทางลอดแยกประโดก ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีระดับความลึกประมาณ 8.00 เมตร ความยาวประมาณ 700 เมตร มีช่องทางจราจรขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น 3 ช่องจราจร และทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดสระบุรี 3 ช่องจราจร
ทิศการเดินทางดังนี้ทิศจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) โดยทางลอด (Underpass) (สีแดง) มุดตัวลอดใต้ทางแยกประโดกแล้วมุดตัวขึ้นเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อไปจังหวัดขอนแก่น ส่วนทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไป จังหวัดสระบุรี ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยทางลอด (Underpass) (สีแดง) มุดตัวลอดใต้ทางแยกประโดก เพื่อไปจังหวัดสระบุรี
แนวทางนี้มีข้อดีคืออุโมงค์ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่ต้องรื้อเสาไฟฟ้าแรงสูง แต่ค่าก่อสร้างและบำรุงรักษาจะสูง และรถเลี้ยวขวายังต้องรอสัญญาณไฟอยู่ดี
รูปแบบทางเลือกที่ 3 สะพานกลับรถ (U-Turn)
โครงสร้างเป็นสะพานลอยยกระดับรูปเกือกม้า ขนาด2 ช่องทางจราจร (สีแดง) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ทิศทางไปสระบุรี ห่างจากทางแยกประโดก 676 เมตร เพื่อทำการขึ้นทางยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิริราชธานีมุ่งหน้าไปบ้านประโดก ช่วงที่ 2 ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ทิศทางจากบ้านประโดก (ถนนสิริราชธานี) ไปโรงพยาบาลมหาราช (ถนนช้างเผือก) ก็เช่นเดียวกันจะกลับรถบริเวณจุดกลับรถต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ทิศทางไปขอนแก่น ห่างจากทางแยกประโดก 850 เมตร เพื่อขึ้นทางยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ลักษณะโครงสร้างเป็นสะพานลอยยกระดับรูปเกือกม้า ขนาด 2 ช่องทางจราจร (สีแดง) เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนช้างเผือกไปโรงพยาบาลมหาราช เพื่อลดปริมาณจราจรที่เข้าสู้ทางแยก และทำการแยกปริมาณจราจร
บนถนนสายหลักทีมีปริมาณจราจรมาก ไม่ให้มีผลกระทบกับปริมาณจราจรบนถนนช้างเผือก และถนนสิริราชธานี สำหรับผู้ที่สัญจรในเส้นทางถนนช้างเผือก หรือถนนสิริราชธานี จะต้องเลี้ยวซ้ายแล้วขึ้นสะพานกลับรถเพื่อใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อเดินทางไปจังหวัดขอนแก่นหรือจังหวัดสระบุรี สำหรับผู้ที่ต้องการหรือเลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าสู่ถนนสิริราชธานีหรือถนนช้างเผือก
แนวทางนี้มีค่าก่อสร้างต่ำกว่าการสร้างอุโมงค์ แต่ค่าใช้จ่ายการก่อสร้างสะพานจะแพงกว่าการสร้างสะพาน (เนื่องจากต้องสร้าง 2 สะพาน) และสะพานบดบังทัศนียภาพ อย่างไรก็ตาม ค่าบำรุงรักษาจะถูกที่สุดกว่าทุกวิธีที่เสนอ
แนวทางนี้จะให้รถยนต์จากถนนมิตรภาพวิ่งตรงได้ ส่วนถนนช้างเผือกจะไม่สามารถตัดตรงได้ ต้องมายูเทิร์นบนสะพานเสมอ
รูปแบบทางเลือกที่ 4 สะพานลอย (Overpass) และ วงเวียน (Roundabout)
ลักษณะโครงสร้างคล้ายกับรูปแบบทางเลือกที่ 1 คือ มีลักษณะโครงสร้างเป็นทางยกระดับหรือสะพานข้ามแยกประโดก ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีระดับความสูงประมาณ 8.00 เมตร ความยาวประมาณ 700 เมตร มีช่องทางจราจรขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น 3 ช่องจราจร และทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดสระบุรี 3 ช่องจราจร
ทิศการเดินทางดังนี้ ทิศจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) โดยสะพานลอย (Overpass) (สีแดง) ยกระดับข้ามทางแยกประโดก แล้วจึงยกตัวลงเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อไปจังหวัดขอนแก่น
ส่วนทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวังหวัดสระบุรี ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยสะพานลอย (Overpass) (สีแดง) ยกระดับข้ามทางแยกประโดก เพื่อไปจังหวัดสระบุรี แต่บริเวณแยกประโดกปรับเปลี่ยนจากสี่แยกและมีสัญญาณไฟจราจร เป็นวงเวียนบริเวณเหนือทางลอด ทำให้การสัญจรของผู้ใช้ทางถนนช้างเผือก และถนนสิริราชธานีมีความคล่องตัวและมีความต่อเนื่อง
แนวทางนี้แก้ปัญหาจากแนวทางที่ 1 โดยสร้างวงเวียนใต้สะพานแทนการใช้ไฟแดง ข้อดีคือรถไม่ต้องติดสัญญาณไฟแดง แต่ข้อเสียคือวงเวียนจะไม่สามารถควบคุมสภาพจราจรได้เท่ากับไฟแดง และรถยนต์ที่วนในวงเวียนจะมีการตัดกันมาก อาจเกิดอุบัติเหตุได้
รูปแบบทางเลือกที่ 5 ทางลอด (Underpass) และวงเวียน (Roundabout)
ลักษณะโครงสร้างคล้ายกับรูปแบบทางเลือกที่ 2 คือ เป็นทางลอดแยกประโดก ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีระดับความลึกประมาณ 8.00 เมตร ความยาวประมาณ 700 เมตร มีช่องทางจราจรขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น 3 ช่องจราจร และทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดสระบุรี 3 ช่องจราจร
ทิศการเดินทางดังนี้ทิศจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) โดยทางลอด (Underpass) (สีแดง) มุดตัวลอดใต้ทางแยกประโดกแล้วมุดตัวขึ้นเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อไปจังหวัดขอนแก่น ส่วนทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น ไป จังหวัดสระบุรีก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยทางลอด (Underpass) (สีแดง) มุดตัวลอดใต้ทางแยกประโดก เพื่อไปจังหวัดสระบุรี แต่บริเวณแยกประโดกปรับเปลี่ยนจากสี่แยกและมีสัญญาณไฟจราจร เป็นวงเวียนบริเวณเหนือทางลอด ทำให้การสัญจรของผู้ใช้ทางถนนช้างเผือก และถนนสิริราชธานีมีความคล่องตัวและมีความต่อเนื่อง
วิธีนี้เหมือนกับวิธีที่ 4 แต่เปลี่ยนจากสะพานเป็นอุโมงค์แทน โดยใช้วงเวียนช่วยแก้ปัญหาสภาพจราจรบนผิวราบแทนไฟแดง
ทางเลือกที่เหมาะสม
จากการประเมินทางเลือกทั้ง 5 แนวทางด้วยการให้คะแนนในมิติต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่าย การบำรุงรักษา สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคมและชุมชน พบว่าแนวทางที่ 1 (สร้างสะพาน+ไฟแดง) และแนวทางที่ 2 (อุโมงค์+ไฟแดง) มีคะแนนรวมมากที่สุดและใกล้เคียงกันมาก ทางคณะผู้ศึกษาจึงเลือกแนวทางที่ 2 (สร้างอุโมงค์) ด้วยเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบดบังทัศนียภาพโดยรอบ
ลำดับถัดไป โครงการจะศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขั้นต้น เมื่อโครงการได้สรุปผลแล้ว ทีมงาน WeKorat จะสรุปผลมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งครับ