อัพเดตความคืบหน้า โครงการรถไฟรางคู่โคราช-หนองคาย

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม หรือ สนข. เผยแพร่วิดีโออัพเดตความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระหว่างโคราช-หนองคาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-หนองคาย ที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศลาวและจีนด้วย

สร้างรางรถไฟทางคู่เชื่อมโคราช-หนองคาย

ต้องแจ้งผู้อ่าน WeKorat ก่อนว่า โครงการนี้คือการก่อสร้างรางรถไฟใหม่ ขนาดมาตรฐาน standard gauge 1.435 เมตร ขนานไปกับทางรถไฟเก่าที่ใช้รางขนาด 1 เมตร โดยรางใหม่จะเป็นรางคู่ (รถวิ่งสวนกันได้โดยไม่ต้องรอสับราง) และเป็นรถไฟฟ้า มีเสาไฟฟ้าจ่ายไฟตลอดแนวเส้นทางทั้งหมด

รถไฟทางคู่ โคราช-หนองคาย

จากภาพกราฟิกจะเห็นว่ารถไฟทางคู่จะวางรางไว้ขนานกับทางรถไฟในปัจจุบัน โดยจะมีกำแพงกั้นแบ่งตลอดแนวทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของชุมชน (จะมาเดินลัดทางรถไฟแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ)

รถไฟทางคู่ โคราช-หนองคาย

รถที่นำมาวิ่งจะเป็นรถที่ใช้พลังไฟฟ้าทั้งหมด (ต่างจากปัจจุบันที่เป็นหัวรถจักรดีเซล) ดังนั้นจะต้องมีเสาและสายเพื่อจ่ายไฟให้ด้วย แบบเดียวกับรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ

รถไฟฟ้า ความเร็วสูง โคราช-หนองคาย

ส่วนจะนำรถไฟความเร็วแบบใด เช่น รถขนส่งสินค้า, รถไฟความเร็วปานกลาง (200 กม./ชม.) หรือรถไฟความเร็วสูง (300 กม./ชม.) มาวิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันต่อไป แต่พูดง่ายๆ คือโครงการนี้จะสร้างรางและสถานีไว้รอ พร้อมรับรถไฟทุกรูปแบบแล้ว

  • ในกรณีที่เป็นรถไฟความเร็วสูง (300 กม./ชม.) จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพไปหนองคาย  ราว 3 ชั่วโมง, ถ้าเอาแค่โคราช-หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ในกรณีที่เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง (200 กม./ชม.) จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพไปหนองคาย  ราว 4 ชั่วโมง, ถ้าเอาแค่โคราช-หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง

ตาราง รถไฟความเร็วสูง โคราช หนองคาย

เส้นทางรถไฟทางคู่ นครราชสีมา-หนองคาย

ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของเส้นทางกัน รถไฟทางคู่ส่วนนครราชสีมา-หนองคาย จะมีทั้งหมด 5 สถานี (ไม่รวมสถานีนครราชสีมา ที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา) ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย

สถานี รถไฟ-โคราช-หนองคาย

ระยะทางทั้งหมด 355 กิโลเมตร

สถานี รถไฟ-โคราช-หนองคาย

ระหว่างเส้นทางจะมีโรงซ่อมบำรุงทางรถไฟ 2 จุด คือ ที่สถานีรถไฟบ้านไร่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา และใกล้ปลายทางที่ สถานีรถไฟโนนสะอาด อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี

นอกจากนี้จะมีสถานีขนส่งสินค้าอีก 2 แห่งที่ บ้านกระโดน จ.นครราชสีมา และ นาทา จ.หนองคาย ซึ่งที่นาทา จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงตัวรถโดยสาร-หัวรถจักรด้วย

สถานี รถไฟ-โคราช-หนองคาย

สถานี รถไฟ-โคราช-หนองคาย

 

การเวนคืนที่ดิน

โครงการก่อสร้างรางรถไฟโคราช-หนองคาย จะใช้พื้นที่เดิมของ รฟท. เกือบทั้งหมด ลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินของประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถไฟความเร็วปานกลาง-สูงจะมีวงเลี้ยวที่กว้างกว่ารถไฟความเร็วต่ำแบบเดิม ทำให้บางจุดต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับการตีโค้งของรถไฟด้วย

พื้นที่ที่คาดว่าจะต้องเวนคืน ได้แก่ บ้านดงพลอง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา และบ้านศาลาดิน อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา

พื้นที่เวนคืน บ้านดงพลอง อ.โนนสูง

พื้นที่เวนคืน บ้านศาลาดิน อ.บัวลาย

ส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ จ. นครราชสีมา ได้แก่

  • บ้านโนนพยอม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
  • บ้านห้วยเสียว อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น
  • บ้านโนนสะอาด อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี
  • บ้านห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี

ในกรณีที่รถไฟต้องผ่านพื้นที่ชุมชน ย่อมมีปัญหาว่าชุมชนสองฝั่งทางรถไฟจะถูกตัดขาดออกจากกัน ทางแก้ของ ก.คมนาคม คือใช้รถไฟยกระดับแทนถ้าต้องผ่านชุมชน โดยระยะระหว่างเสาตอม่อคือ 30-35 เมตรต่อจุด ส่วนทางรถข้ามจะอยู่ในรูปของสะพานหรืออุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟ ถ้าสภาพพื้นที่จำกัดจริงๆ อาจเป็นสะพานยูเทิร์นรูปตัว U แทน

เสาตอม่อ รถไฟความเร็วสูง

หน้าตาของสถานีรถไฟ

โครงการนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นสถานีขนาดใหญ่ ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเหมือนอย่างในต่างประเทศ โดยทางโครงการมีแนวคิดจะนำเสนออัตลักษณ์ของท้องถิ่น ลงในสถาปัตยกรรมของตัวสถานีด้วย (ทั้งหมดนี้เป็นภาพกราฟิกเรนเดอร์เท่านั้น แบบสถานีจริงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในรายละเอียด)

หมายเหตุ: สถานี จ.นครราชสีมา ไม่รวมอยู่ในโครงการนี้ เพราะอยู่ในโครงการช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งถ้ามีความคืบหน้าแล้วทางเว็บไซต์ WeKorat จะมานำเสนออีกครั้งครับ (เพื่อไม่ให้พลาดการอัพเดต กรุณากดไลค์แฟนเพจ WeKorat อีกช่องทางครับ)

สถานีบัวใหญ่

ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดอกบัว

สถานีบัวใหญ่

สถานที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง-ปานกลาง ของ อ.บัวใหญ่ คือบริเวณถนนรถไฟ 1 กับ ซ.นิเวศน์รัตน์

แผนที่ สถานีบัวใหญ่

สถานีบ้านไผ่

ใช้เอกลักษณ์เป็นลวดลายการสานไผ่

สถานีบ้านไผ่

สถานีขอนแก่น

ใช้เอกลักษณ์เป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์

สถานีขอนแก่น

สถานีอุดรธานี

รูปแบบตามแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

สถานีอุดรธานี ลายบ้านเชียง

สถานีหนองคาย

สถานีปลายทางหนองคาย ใช้เอกลักษณ์เป็นพญานาค (Naga)

สถานีรถไฟหนองคาย

จะได้ใช้กันเมื่อไร?

สุดท้ายหลายคนคงมีคำถามว่า โครงการใหญ่ขนาดนี้จะเสร็จเมื่อไร เมื่อไรจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปหนองคายกัน คำตอบของทาง สนข. ประเมินว่าตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) จนประกวดราคาและลงมือก่อสร้าง จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีครับ อดใจรอกันอีกนิดนะ

ระยะเวลาสร้างรถไฟความเร็วสูง

ปิดท้ายด้วยคลิปวิดีโอฉบับเต็ม เพื่อใครสนใจรับทราบข้อมูลจ้า