ปัญหาภัยแล้งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในปี 2559 และแน่นอนว่าภาคอีสานที่ขึ้นชื่อว่าแล้งอยู่แล้ว ย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีความหวังซะทีเดียว เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านพ้นภัยแล้งครั้งนี้ไปให้ได้ ส่วนของ จ.นครราชสีมาเอง ก็พยายามแก้ปัญหาโดยกักเก็บน้ำในบ่อดินหลายจุด มาช่วยผลิตน้ำประปาในช่วงน้ำแล้ง แทนการอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว
บ่อดินเหล่านี้เป็นบ่อดินที่เอกชนขุดหน้าดินไปขาย พื้นที่บ่อที่เหลืออยู่ก็มอบให้ทางการใช้เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, พ.อ.พิเศษ สมหมาย บุษบา ผู้บังคับการกรมพัฒนาที่ 2 กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนคร นครราชสีมา, นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักชลประทานที่ 8 (ชป.8) นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อขุดดินบริเวณบ้านโกรกพัฒนา หมู่ 5 ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา พบว่ามีพื้นที่รวม 1,500 ไร่ แต่ละบ่อลึก 30 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 10 ล้าน ลบ.ม.
วิธีการจะผันน้ำจากลำน้ำใกล้เคียงมากักเก็บไว้ในบ่อเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ผลิตน้ำประปาต่อไป ส่วนวิธีการกำลังพิจารณาว่าจะสร้างโรงกรองน้ำที่บริเวณบ่อดินเลย หรือจะต่อท่อผันน้ำมาผลิตที่โรงประปาเดิมที่มีอยู่แล้ว
ถ้าโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจนำไปขยายผลใช้งานต่อในจังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสานด้วย
ข้อมูลจาก มติชน