สถานที่ทรงคุณค่าแห่งหนึ่งในโคราช ที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยมา วันนี้ We Korat พาไปชม พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ของดีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งในแปดแห่งของโลก
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 9:00-16:00 หยุดทุกวันจันทร์ เบอร์โทรศัพท์สอบถาม 044-370739-40 (เว็บไซต์)
ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ในบ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี ไม่มีรถโดยสารผ่าน ถ้ามาจากถนนมิตรภาพ ให้กลับรถที่สะพานโคกกรวด เข้ามาทางตลาดไม้ดอกไม้ประดับ แล้วมาตามป้ายบอกเส้นทางประมาณ 11 กิโลเมตร กรณีมาจากถนน 304 ปักธงชัย ให้เข้าทางประตู 2 มทส. มา 3 กิโลเมตร เมื่อถึงแยกใหญ่ให้เลี้ยวซ้ายทางไปวัดหนองปลิงมาอีก 2 กิโลเมตรจะเจอพิพิธภัณฑ์
การจัดแสดงนิทรรศการเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆ ทุก 15 นาที เนื่องจากมีการชมวิดีโอแนะนำข้อมูล อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท, นักศึกษา 30 บาท, นักเรียน 20 บาท, ชาวต่างชาติ 120 บาท
ส่วนจัดแสดงหลักมี 3 ส่วนคือ 1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน 2. พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ และ 3. พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ใช้เวลาในการชมทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดนิทรรศการหมุนเวียนพิเศษด้วย
ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เริ่มเปิดให้เข้าชมในปี 2545 และมีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2551 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน ทำพิธีเปิด ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ไม้กลายเป็นหินคืออะไร
ฟังชื่อแล้วอาจจะงงๆ แต่ไม้กลายเป็นหินนั้นก็คือการที่ไม้ผ่านการทับถมเป็นเวลานาน จนมีสารและแร่ธาตุต่างๆ แทรกเข้าไปในเนื้อไม้จนเหมือนหินที่เกิดจากการทับถมของสสารต่างๆ เมื่อผ่านไปเป็นเวลานานตามธรรมชาติ ไม้กลายเป็นหินจึงไม่เหมือนหินทั่วไป เพราะยังคงสภาพความเป็นพรรณไม้อยู่ โดยมีอายุตั้งแต่หลักหมื่นปี จนถึงร้อยล้านปีเลยทีเดียว
ไม้กลายหินจึงมีความสำคัญในทางชีววิทยา เพราะถือเป็นฟอสซิลพืชที่สามารถนำไปวิจัยค้นหาวิวัฒนาการของพืชในยุคต่างๆ ตลอดจนศึกษาสภาพแวดล้อม ธรณีวิทยาในแต่ละยุคสมัยได้ การมาชมไม้กลายเป็นหิน จึงเหมือนการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกในยุคสมัยต่างๆ นั่นเอง
ไม้กลายหินที่นำมาจัดแสดงนั้น ส่วนใหญ่เป็นไม้กลายเป็นหินที่ค้นพบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียง ส่วนหนึ่งเป็นการนำมาบริจาคเพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดิน และให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินอยู่ 8 แห่งเท่านั้นในโลก โดยนอกจากเมืองไทยแห่งเดียวที่นครราชสีมาแล้ว ประเทศอื่นที่มีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ก็ได้แก่ กรีซ, 3 แห่งในอเมริกา, 2 แห่งในจีน และเมียนมาร์
ในส่วนของอีกสองนิทรรศการนั้น เป็นการนำเสนอฟอสซิลเช่นกัน โดยเป็นการรวบรวมซากช้างดึกดำบรรพ์หลายสกุล ไม่ว่าจะเป็นช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม และบรรพบุรุษของช้าง ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือซากช้างดึกบรรพ์นั้นมีการขุดค้นพบอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับส่วนของ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ก็มีชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืช กินเนื้อ จัดแสดง ซึ่งหลายชิ้นส่วนนั้นก็ถูกค้นพบในบริเวณที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้เอง