ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน บนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความคืบหน้าสำคัญ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร เรียบร้อยแล้ว We Korat จึงสรุปข้อมูลทั้งหมดที่สำคัญ เท่าที่เราทราบในตอนนี้ของโครงการสำคัญดังกล่าว
เส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง
- โครงการทั้งหมดของเส้นทางคือ กรุงเทพฯ-หนองคาย
- ในระยะที่ 1 จะก่อสร้างเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
- เส้นทางระยะที่ 1 ความยาว 253 กิโลเมตร
- สถานีรถไฟ 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ – ดอนเมือง – อยุธยา – สระบุรี – ปากช่อง – นครราชสีมา
- มี 2 สถานีซึ่งสร้างบนพื้นที่ใหม่ ได้แก่ สระบุรี (ตรงข้ามโรบินสัน ถนนเลี่ยงเมือง) และปากช่อง (ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งปัจจุบันเป็นกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 กองทัพบก)
- ศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่อำเภอเชียงรากน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา
อัตราค่าโดยสารและการให้บริการ
- มติ ครม. กำหนดค่าโดยสารเบื้องต้นที่ 80 บาท บวก 1.8 บาทต่อกิโลเมตร
- จากอัตราดังกล่าว จะทำให้เส้นทาง กรุงเทพฯ-ปากช่อง อยู่ที่ 393 บาท และ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท
- ขบวนรถมีทั้งหมด 6 ขบวน ในระยะแรก ความจุผู้โดยสาร 600 คนต่อขบวน
- ความเร็วในการเดินทาง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที
- ให้บริการเริ่มต้น 11 เที่ยวต่อวัน เดินทางทุก 90 นาที
งบประมาณและระยะเวลาก่อสร้าง
- ในระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) เงินลงทุนที่ ครม. อนุมัติ 179,412 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100%
- เริ่มก่อสร้างเฟสแรก (กลางดง-ปากอโศก) ตุลาคมปีนี้ และจะมีอีก 3 เฟส คือ ปากช่อง-คลองขนานจิตร, แก่งคอย-นครราชสีมา และ กรุงเทพฯ-แก่งคอย
- ระยะเวลาก่อสร้างทั้งโครงการ 4 ปี
- คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2564
ข้อมูลอ้างอิง: ฐานเศรษฐกิจ, เรื่องเล่าเช้านี้ และ ประชาชาติธุรกิจ