เผยเส้นทาง-สถานี แบบล่าสุด รถราง LRT ที่จะให้บริการในเมืองโคราช ค่าโดยสารเคาะ 15-25 บาท

We Korat ได้รายงานข้อมูลของการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองโคราชมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวข้อสำคัญ เพราะการขยายของตัวเมืองไปสู่ความเป็นมหานครโคราช ย่อมมีปัญหาด้านการจราจรที่มากขึ้น โดยล่าสุดจะมีการจัดการสัมมนาเพื่อแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ก็มีข้อมูลเส้นทางและราคาค่าโดยสารออกมาเพิ่มเติม

(อัพเดต: เพิ่มเติมข้อมูลจากการสัมมนาครั้งที่ 4 วันที่ 20 ตุลาคม 2560 ด้านล่าง)

โดยแนวทางการขนส่งนั้น ยังยืนยันที่ระบบรถรางเบาระดับพื้น เรียกย่อว่า LRT (Light Rail Transport) โดยมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ

  • เป็นรถรางไฟฟ้า ชาร์จไฟแบบไร้สายที่สถานี
  • ล้อเหล็ก แบบพื้นสูง (High Floor)
  • วิ่งเส้นทางระดับพื้นดิน
ตัวอย่างแบบเรนเดอร์ เส้นทางที่ผ่านมาตลาดแม่กิมเฮง ถนนโพธิ์กลาง

สำหรับเส้นทางนั้น ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือฝั่งตะวันตก โรงเรียนราชสีมาฯ-เซฟวัน ฝั่งตะวันออก ป.แพทย์-ดูโฮม และทางฝั่งเหนือไปถึงสำนักงานขนส่งจังหวัด 2 โดยในรายงานนี้มีการประเมินราคาค่าโดยสารไว้ หลังจากทำการรวบรวมความคิดเห็น ซึ่งใช้แนวทางคิดราคาแบบเป็นโซน ถ้าหากขึ้นลงในสถานีโซนเดียวกันจะอยู่ที่ 15 บาท หากมีการข้ามโซน ราคาจะเพิ่มเป็น 20 และ 25 บาท ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้คล้ายกับการคิดราคาค่าโดยสารรถไฟของลอนดอน

รูปแบบเส้นทาง รถราง LRT โคราช โดยคิดราคาเมื่อมีการเดินทางข้ามโซน

แผนการก่อสร้างยังคงเดิม นั่นคือเริ่มระยะที่ 1 ในสายสีส้มเข้ม (โรงเรียนเทศบาล 1 – หน้าย่าโม – เทอร์มินอล 21 – ศาลากลาง) และสายสีเขียวเข้ม (เซฟวัน – เดอะมอลล์ – หน้าย่าโม – โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส) ก่อน มีรายละเอียดเหมือนเดิมดังนี้

รายละเอียดสถานีของโครงการก่อสร้างระยะที่ 1

สายสีส้มเข้มนั้น ทุกสถานีจะอยู่ในโซน 1 นั่นคือราคาค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15 บาท ส่วนสายสีเขียวเข้ม จุดข้ามโซน อยู่ที่ สวนภูมิรักษ์-เทศบาลนครฯ และ วัดสามัคคี-ราชภัฏฯ

เมื่อจบระยะที่ 1 จะเป็นการก่อสร้างระยะที่ 2 ในเส้นทางสายสีม่วง เส้นทางเซฟวัน – เดอะมอลล์ – เทอร์มินอล 21 – เซ็นทรัล – สุรนารายณ์ ซึ่งมีจุดข้ามโซนระหว่าง 1 กับ 2 คือ โลตัส-เดอะมอลล์ และ แม็คโคร-เมกาโฮม

รายละเอียดสถานีของโครงการก่อสร้างระยะที่ 2

ส่วนระยะที่ 3 จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายของเส้นทางสายต่างๆ ไปถึงจอหอ, ดูโฮม, ชลประทาน

เริ่มก่อสร้างเมื่อใด เปิดใช้เมื่อใด?

คำถามที่หลายคนสนใจ ในข้อมูลล่าสุดประเมินว่าการก่อสร้างระยะที่หนึ่ง จะเริ่มได้เร็วที่สุดในปี 2563 เปิดให้บริการได้ในปี 2566 จากนั้นจะเป็นการก่อสร้างต่อในระยะที่ 2 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 ต่อจากนั้นก็เป็นระยะที่สามต่อไป

แผนงานนี้จึงเป็นแผนระยะยาวระดับมากกว่า 10 ปี ที่ยังมีขั้นตอน ทั้งงบประมาณ และการพัฒนาเมืองในหลายส่วนต่างๆ ระหว่างช่วงเวลานั้น รวมทั้งการขนส่งในทางอื่นที่โครงการยังดำเนินไปพร้อมกัน อาทิ เส้นทางการจราจรใหม่ การก่อสร้างถนนวงแหวน ทางยกระดับมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งทั้งหมดให้เป็นระบบ บนเงินลงทุนประเมิน ในระยะที่หนึ่ง 14,100 ล้านบาท ระยะที่สอง 4,900 ล้านบาท และระยะที่สาม 13,600 ล้านบาท

(ดูรายงานเพิ่มเติม ข้อมูลเส้นทางก่อนหน้านี้)

ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสัมมนาครั้งที่ 4

เงินลงทุนมาจากไหน ใครดูแล

รูปแบบการดำเนินโครงการ

โครงการรถราง LRT มีมูลค่าประเมินเบื้องต้นราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก ฉะนั้นในช่วงดำเนินงานก่อสร้างจึงจะเป็นการของบประมาณจากหน่วยงานรัฐ (คาดว่าเป็น รฟม.) ส่วนช่วงเปิดให้บริการและจัดการเดินรถ จะเป็นรูปแบบบริษัทร่วมทุน ของหน่วยงานท้องถิ่น (เทศบาลนครนครราชสีมา, ฯลฯ) ร่วมกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น, ธุรกิจที่เชี่ยวชาญระบบราง, ผู้ประกอบการรถโดยสารเดิม และประชาชนทั่วไป

ผลกระทบเส้นทางจราจรเดิม การจอดรถ

ประเด็นที่มีการถกเถียงกันในสังคมออนไลน์กว้างขวาง คือผลกระทบจากผิวถนนเดิมที่จะต้องใช้สำหรับรถราง LRT และน่าจะกระทบผู้มีร้านค้า-บ้านพัก ตลอดแนวเส้นทาง

ถนนมุขมนตรี เป็นจุดที่มีการตั้งคำถามมาก เนื่องจากช่องทางจราจรมีน้อยอยู่แล้ว

หากดูแนวเส้นทางส่วนใหญ่ของรถราง LRT นั้น สัญจรผ่านถนนสายหลักของจังหวัด ที่เป็นถนนที่มีขนาดใหญ่ (มิตรภาพ, มิตรภาพ-หนองคาย, สุรนารายณ์) ส่วนนี้ไม่มีผลกระทบนัก แต่ก็มีเส้นทางซึ่งถูกตั้งคำถามมาก นั่นคือถนนมุขมนตรี (วัดใหม่อัมพวัน-ห้าแยกหัวรถไฟ) และถนนโพธิ์กลาง (สำนักงานเทศบาลฯ-ย่าโม) ที่มีช่องทางจราจรน้อยอยู่แล้ว และมักไม่ให้จอดรถ หากมีการสร้างทางรถรางเพิ่มจะกระทบหรือไม่

สืบศิริซอย 6 จะเป็นจุดเดียวของรถราง LRT ที่ลงใต้ดิน

ในเรื่องนี้ได้มีการออกแบบเส้นทางเพื่อป้องกันปัญหาที่เพิ่มขึ้น โดยในภาพแสดงนั้น จุดที่เบี่ยงจากถนนมิตรภาพ เข้าสู่ถนนสืบศิริและมุขมนตรี จะผ่านเส้นทางสืบศิริซอย 6 (ซอยเลียบทางรถไฟ) เนื่องจากเส้นทางสีเขียวในภาพคับแคบ เฉพาะตรงนี้รถรางจะวิ่งลงใต้ดิน

ภาพแนวรถราง และสถานีสวนภูมิรักษ์ (ภาพจาก Facebook Live Korat Daily)

ส่วนประเด็นว่าถนนมุขมนตรีนั้นแคบไปหรือไม่ หากดูจากภาพแสดงจะเห็นว่าแนวรถรางนั้นใช้พื้นที่ถนนเกือบทั้งหมด แต่รถรางเองก็ไม่ได้วิ่งตลอดเวลา (เบื้องต้นทุก 10 นาที) และการจัดสรรพื้นที่จราจรส่วนถนนมุขมนตรีและโพธิ์กลางนั้น จะให้รถยนต์ทั่วไปใช้เส้นทางร่วมกับรถรางได้อยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ

ถนนโพธิ์กลาง บริเวณตลาดแม่กิมเฮง สถานีจะแยกเป็นสองฝั่ง (ภาพจาก Facebook Live Korat Daily)

ส่วนประเด็นที่จอดรถสองข้างทางนั้น แนวการออกแบบรางจะใช้พื้นที่กลางถนนเป็นหลัก ไม่ได้เบียดเข้าด้านซ้าย-ขวาของถนน บริเวณใดที่เคยจอดรถได้ก็จะยังสามารถจอดรถต่อไปได้ มีเพียงบริเวณสถานีเท่านั้นที่รางจะเบี่ยงเข้ามาหาริมถนน