อัพเดตความคืบหน้าของโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา เมื่อปีที่แล้ว ทางเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ไปนำเสนอเรื่องนี้ต่อสภา และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ก็อนุมัติงบประมาณสำหรับ “ศึกษา” มาให้แล้ว 45 ล้านบาท
ความคืบหน้าล่าสุด มาจากหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ได้ความว่า สนข. ตกลงจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินงาน โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ด้วยมูลค่า 43.7 ล้านบาท เวลาศึกษา 14 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559-มีนาคม 2560
หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และหัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะผู้จัดการโครงการศึกษา มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- มทส. เคยมีประสบการณ์ศึกษาโครงการนี้จากเทศบาลนครราชสีมามาก่อนแล้ว (อ่านบทความ เปิดแผน KRT ระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้าของ อ.เมือง นครราชสีมา) และเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่
- ตามแผนแม่บทการขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา จะสนใจการเชื่อมโยงกับพื้นที่สำคัญด้านการขนส่ง เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา (สนามบินหนองเต็ง) ด้วย เพราะ จ.นครราชสีมา ยังไม่มีระบบขนส่งที่เชื่อมโยงไปยังสนามบิน
- ดร.สุขสันติ์ มองว่าการที่โคราชมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ ทั้ง Central และ Terminal 21 มาเปิด จะส่งผลให้บริบทการเดินทางของเมืองเปลี่ยนไป
- เส้นทางการขนส่งสาธารณะทั้งหมดที่เคยศึกษาไว้คราวก่อน มี 5 เส้นทาง คือ ราชสีมา-บ้านเกาะ, โคกกรวด-ราชสีมา, ประตูน้ำ-หัวทะเล, บ้านเกาะ-จอหอ, แยกขอนแก่น-จอหอ แต่หลังจาก Terminal 21 จะเปิดให้บริการที่แยกขอนแก่น ทำให้ต้องปรับปรุงเนื้อหาการศึกษาอีกครั้ง
- ผลการศึกษาเดิม เลือกระบบรถบัสลอยฟ้า (BRT หรือ Skybus) ว่ามีความเหมาะสมที่สุด แต่การศึกษารอบใหม่จะประเมินหาความเหมาะสมอีกครั้ง (ระบบ Skybus ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่าย)
- การรับฟังข้อคิดเห็นครั้งแรก จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน 2559
ที่มา – KoratDaily