โครงการรถไฟฟ้ารางเบาโคราช ระบบขนส่งขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา มีความคืบหน้า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยตอนนี้เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมประกวดราคา คาดว่าเป็นช่วงปลายปี 2563 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568
โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ในสัญญาจ้างนี้จะครอบคลุมเส้นทาง สายสีเขียว เริ่มต้นจาก สถานีเซฟวัน ไปถึง สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.10 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินมูลค่าการลงทุนโครงการนี้ที่ 8,000 ล้านบาท
ภาพรวมทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบาโคราช จะมีทั้งหมด 3 สาย ดังนี้
- เส้นทางสายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และช่วงสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 ระยะทาง 12.12 กิโลเมตร มี 33 สถานี
- เส้นทางสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงโรงเรียนเทศบาล1-หัวทะเล-ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร มี 23 สถานี
- เส้นทางสายสีม่วง ตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร และส่วนต่อขยาย ช่วงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กิโลเมตร มี 22 สถานี
สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นจะใช้วิธีลงทุนร่วมกับเอกชน รัฐเป็นฝ่ายจัดหาที่ดิน เอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง งานโยธา ระบบรถและเดินรถ โดยรัฐจะทยอยชำระคืนในระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้แนวรถไฟฟ้ารางเบาจะอยู่บนแนวถนน จึงอาจมีการเวนคืนที่ดินบ้างแต่เล็กน้อย ในจุดที่ถนนแคบ หรือจุดโค้งทางเลี้ยว และจุดที่ตั้งสถานี ทั้งนี้การก่อสร้างสายสีส้ม และสายสีม่วง จะประเมินผลหลังดำเนินโครงการสายสีเขียวก่อน ประเมินผู้โดยสารทั้ง 3 สายที่ 2 หมื่นคนต่อวัน
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากผู้จัดการออนไลน์