ข้อมูลรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

ทีมงาน WeKorat ได้รับข้อมูลผลการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมของเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจและชาวโคราชน่าจะได้รับทราบกันว่าเราจะมีรถไฟความเร็วสูงที่เป็นอย่างไรกัน ทั้งนี้บทความนี้จะพูดถึงเฉพาะเส้นทางรถไฟสายอีสานเท่านั้น (ยังมีเส้นทางในภูมิภาคอื่นอีก)

รถไฟความเร็วสูง
รถไฟความเร็วสูง

รูปแบบเส้นทาง

เส้นทางในสายอีสาน (ชื่อทางการเส้นทางมุ่งสู่ทิศตะวันออก หรือ East Bound EB) เส้นทางจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ – ภาชี ระยะทาง 84 กิโลเมตร, ภาชี – นครราชสีมา ระยะทาง 168 กิโลเมตร และนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือกรุงเทพฯ – นครราชสีมา แล้วเปิดดำเนินการก่อน จากนั้นการก่อสร้างช่วงต่อมาคือ นครราชสีมา – หนองคาย

ในส่วนของเส้นทางภาชี – นครราชสีมา จะเป็นลักษณะทางยกระดับขนานกับเส้นทางรถไฟสายเดิม โดยปรับเป็นแนวอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก จากนั้นจึงวิ่งคู่ขนานกับรถไฟรางคู่ ส่วนบริเวณลำตะคองมีการปรับเส้นทางเป็นทางยกระดับกับอุโมงค์ แล้วกลับมาวิ่งขนานรถไฟรางคู่ตั้งแต่คลองไผ่จนถึงนครราชสีมา ยกเว้นตั้งแต่สถานีภูเขาลาดเป็นต้นไปที่กลับมาเป็นทางยกระดับ

รายละเอียดสถานี

สำหรับสถานีที่อยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ประกอบด้วย

  1. บางซื่อ
  2. อยุธยา
  3. สระบุรี
  4. ปากช่อง
  5. นครราชสีมา
  6. บัวใหญ่
  7. บ้านไผ่
  8. ขอนแก่น
  9. อุดรธานี
  10. หนองคาย
สถานีรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา
สถานีรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

แผนการเดินรถ

รูปแบบรถไฟที่ใช้วิ่งจะมีรถแบบ 4 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 234 ที่นั่ง และแบบ 8 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 482 ที่นั่ง โดยขบวนรถจะวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 200-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แวะพักแต่ละสถานีประมาณ 2 นาที

นั่นทำให้การเดินทางจากสถานีบางซื่อมายังสถานีนครราชสีมา จะใช้เวลาเดินทางเร็วที่สุด 1 ชั่วโมง 9 นาทีเท่านั้น กรณีรถไฟเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำที่สุด ก็จะอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 34 นาทีเท่านั้น เมื่อรวมกับเส้นทางช่วงที่ 2 ไปหนองคายแล้ว การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น

ในส่วนของราคาค่าโดยสารนั้น ยังอยู่ในช่วงการศึกษาราคาที่เหมาะสม ตลอดจนรูปแบบของบัตรในการใช้โดยสารประเภทต่างๆ ครับ