เปิดแผน KRT ระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้าของ อ.เมือง นครราชสีมา

หัวเมืองใหญ่ของประเทศไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมีปัญหาเรื่องจราจรติดขัดในแทบทุกเมือง และหลายเมืองก็เริ่มวางแผนเรื่องระบบขนส่งมวลชน (mass transit) กันบ้างแล้ว ซึ่งกรณีของโคราชบ้านเอ็ง ทางเทศบาลนครนครราชสีมาก็ได้เตรียมพร้อมเรื่องนี้ โดยจ้างให้สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำการศึกษาเบื้องต้น (ย้ำว่า เบื้องต้น) และนำเสนอ “แผนแม่บท” ด้านการพัฒนาการขนส่งมวลชนของ อ.เมืองนครราชสีมาแล้ว

โครงการนี้ได้ชื่อที่จะนำเสนอต่อสาธารณะในชื่อ  “ระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา” โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Korat Rapid Transit (KRT) โลโก้ตามภาพครับ (รูปแบบอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต)

KRT Logo

บทความนี้ ทีมงาน WeKorat จะรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของโครงการศึกษาเบื้องต้นของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี และนำมาสรุปประเด็นสำคัญให้คนโคราชเข้าใจว่า แผนการที่เป็นไปได้ของระบบขนส่งมวลชนโคราชจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร โดยสรุปๆ แล้ว ที่ปรึกษาโครงการประเมินว่ารูปแบบที่เหมาะสมกับโคราชคือ ใช้รถเมล์ด่วน BRT (แบบแถว ถ.สาธร ใน กทม.) แต่สร้างถนนลอยฟ้าสำหรับให้รถเมล์วิ่งแทนที่จะวิ่งบนพื้นราบ

สำหรับรายละเอียดของโครงการศึกษา สามารถดูได้จาก โครงการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา และ Facebook ของโครงการ

ก่อนจะเข้าส่วนของตัวโครงการ KRT คงต้องมาดูบริบทและข้อมูลด้านการคมนาคมของโคราชกันก่อนครับ

โครงข่ายการคมนาคมในโคราช

ถ้าเอาถนนเส้นหลักที่เป็นทางหลวงแผ่นดินของ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประกอบด้วยถนนสายหลัก 4 เส้น ได้แก่

  • ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2) ซึ่งมีเส้นทางหลายเส้นในตัวเมืองนครราชสีมา (เช่น ถนนบายพาส) มุ่งหน้าไป จ.ขอนแก่น
  • ทางหลวง 224 เส้นจาก อ.เมือง ไป อ.โชคชัย
  • ทางหลวง 226 เส้นจาก อ.เมือง ไป อ.เฉลิมพระเกียรติ
  • ทางหลวง 304 จากแยกปักธงชัย ไป อ.ปักธงชัย
ทางหลวง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ทางหลวง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ถ้านำสภาพของเมืองมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่าเมืองโคราชมีศูนย์กลางหรือจุดใหญ่ๆ 2 แห่งคือ ตัวเมืองหลัก (พื้นที่รอบเมืองหลัก) และศูนย์กลางรอง (แถวแยกจอหอ)

ศูนย์กลางเมืองนครราชสีมา
ศูนย์กลางเมืองนครราชสีมา

แต่การขนส่งมวลชนใน อ.เมืองนครราชสีมา ยังมีเฉพาะรถเมล์หรือรถสองแถวเท่านั้น โดยปัจจุบันมีรถเมล์-รถสองแถวทั้งหมด 19 สาย

รถเมล์ โคราช
รถเมล์ โคราช
แผนที่เส้นทางรถเมล์ รถสองแถว โคราช
แผนที่เส้นทางรถเมล์ รถสองแถว โคราช
ตารางสายรถเมล์ รถสองแถว โคราช
ตารางสายรถเมล์ รถสองแถว โคราช

เส้นทางวิ่งที่เหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนโคราช

เมื่อพิจารณาสภาพและบริบทด้านการขนส่งของเมืองโคราช ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายถนน สภาพจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ความกว้างของถนนที่เอื้อต่อการก่อสร้าง

สภาพการเดินทางของเมืองโคราช
สภาพการเดินทางของเมืองโคราช
สภาพจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของโคราช
สภาพจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของโคราช

ที่ปรึกษาได้นำเสนอเส้นทางวิ่งของระบบขนส่งมวลชนโคราช หรือ KRT ออกเป็น 5 เส้นทางย่อย (ที่ต่อเชื่อมกันทั้งหมด) ตามแนวของถนนสายหลักในเมืองโคราช ได้แก่

  • เส้น 1-1 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย วิ่งตามแนวถนนมิตรภาพสายเก่าเข้าในเมือง จากนั้นเลี้ยวเข้า ถ.สุรนารายณ์ ถึงบริเวณบ้านเกาะ
  • เส้น 1-2 เป็นส่วนต่อขยายจากเส้น 1-1 ออกนอกเมือง โดยจะวิ่งจากสถานีราชสีมาไปถึง ต.โคกกรวด
  • เส้น 2-1 จะแยกจากเส้น 1-1 ที่ประตูน้ำ (ประตูพลแสน) แล้ววิ่งตามถนนหมายเลข 224 ไปจนถึงเขตอุตสาหกรรมสุรนารี
  • เส้น 2-2 จะต่อขยายจากเส้น 1-1 จากบ้านเกาะไปถึงทางแยกต่างระดับจอหอ 2 (ตัดกับ ถ.บายพาส)
  • เส้น 3-1 จะแยกจากเส้น 1-1 ที่สามแยกไป อ.ขอนแก่น (แยกบิ๊กซี) วิ่งตามแนว ถ.มิตรภาพเส้นใหม่ ผ่าน บขส. ใหม่ ไปจนถึงแยกจอหอ

ตามแผนการคือจะสร้างเส้นที่ 1 ก่อน แล้วตามด้วยเส้นที่ 2 และ 3 ในภายหลัง

แผนผัง KRT การขนส่งมวลชนโคราช
แผนผัง KRT การขนส่งมวลชนโคราช

รายละเอียดของแต่ละเส้นทาง (ที่จะสร้างไม่พร้อมกัน) ดูได้จากตาราง

ตารางรายละเอียดเส้นทาง KRT
ตารางรายละเอียดเส้นทาง KRT
ประเมินยอดผู้โดยสาร KRT แต่ละเส้นทาง
ประเมินยอดผู้โดยสาร KRT แต่ละเส้นทาง

สรุปข้อมูลเส้นทางอีกรอบแบบชัดๆ (อาจไม่เหมือนแผนที่ข้างต้น 100% เพราะมาจากการรับฟังความเห็นคนละครั้งกัน)

แผนผังสถานี KRT โคราช
แผนผังสถานี KRT โคราช

รายละเอียดของสถานีต่างๆ ว่าตอบโจทย์ด้านการขนส่งของชุมชนใดบ้าง

รายละเอียดสถานี KRTรายละเอียดสถานี KRTเมื่อได้ข้อมูลเส้นทางวิ่งแล้ว ก็ไปเลือกระบบของการขนส่งต่อไป

รูปแบบของระบบขนส่งมวลชนที่เป็นไปได้

เนื่องจากเป้าหมายในภาพรวมของโครงการคือ “ต้องการระบบขนส่งมวลชน” สำหรับเมืองโคราช แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใด ดังนั้นที่ปรึกษาโครงการจึงต้องประเมินรูปแบบการขนส่งต่างๆ ที่นิยมในเมืองใหญ่ของโลก แล้วมาพิจารณาข้อดีข้อเสียของระบบแต่ละแบบว่ารูปแบบใดเหมาะสมสำหรับสภาพเมืองโคราชมากที่สุด

รูปแบบการขนส่งมวลชนที่กลุ่มที่ปรึกษานำมาศึกษามีทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่

  1. ระบบขนส่งมวลชนขนาดหนัก (MRT) แบบเดียวกับ BTS และ MRT ในกรุงเทพฯ
  2. รถไฟเบา (LRT)
  3. รถราง (TRAM)
  4. รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) เป็นโครงการที่ กทม. พยายามจะสร้างที่เส้นสยาม-จุฬา-สามย่าน
  5. รถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) แบบเดียวกับรถเมล์ด่วน BRT ของกรุงเทพ

สำหรับรายละเอียดของระบบขนส่งมวลชนแต่ละแบบ ดูได้ตามสไลด์ครับ

MRT
MRT
LRT
LRT
TRAM
TRAM
Monorail
Monorail
BRT
BRT

เปรียบเทียบระบบขนส่งมวลชนแต่ละแบบ โดยแกนนอนคือความเร็วของการวิ่ง และแกนตั้งคือปริมาณผู้โดยสารต่อชั่วโมงที่รองรับได้ จะเห็นว่า MRT วิ่งเร็วที่สุด ขนคนได้เยอะที่สุด (แต่อาจไม่เหมาะสมที่สุด) ส่วนระบบอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันตามมา

เปรียบเทียบระบบขนส่งมวลชนแบบต่างๆ
เปรียบเทียบระบบขนส่งมวลชนแบบต่างๆ

กระบวนการคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่น เศรษฐกิจ (ค่าก่อสร้าง ค่าเดินรถ) วิศวกรรม (การรองรับผู้โดยสาร ความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินขึ้นลงสถานี) สิ่งแวดล้อม (ทัศนวิสัย มลพิษทางอากาศ/เสียง) สังคม/ชุมชน (วิถีชีวิต และผลกระทบกับผู้ประกอบการคมนาคมแบบอื่น)

ที่ปรึกษาได้พิจารณาการขนส่งทั้งหมด 6 แบบ (แยก BRT เป็นแบบบนดินกับลอยฟ้า) โดยแยกคะแนนเป็น 4 หมวด

เปรียบเทียบการขนส่งรูปแบบต่างๆ ของ KRT
เปรียบเทียบการขนส่งรูปแบบต่างๆ ของ KRT

รายละเอียดของแต่ละหมวดคงไม่ต้องลงลึกในบทความนี้นะครับ (ผู้สนใจอ่านได้จากสไลด์ที่อยู่ในเว็บของโครงการ) สรุปออกมาแล้ว BRT แบบยกระดับ ชนะเลิศ (แต่อันดับอื่นๆ ก็ทิ้งกันไม่มากนัก)

ตารางเปรียบเทียบคะแนนรวม KRT แบบต่างๆ
ตารางเปรียบเทียบคะแนนรวม KRT แบบต่างๆ

ย้ำอีกรอบว่าการศึกษาชุดนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ในการดำเนินโครงการจริงคงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดร่วมกับ ก.คมนาคม อีกครั้งว่ารูปแบบที่เหมาะสมเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นก็คงพอสรุปได้ว่าเทศบาลนครนครราชสีมา เลือกระบบ BRT ยกระดับครับ

KRT รถเมล์ด่วนยกระดับ

เมื่อได้เส้นทางและรูปแบบของระบบขนส่งที่เหมาะสมแล้ว ที่เหลือก็มาลงรายละเอียดกันว่า KRT ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งแยกเป็นทางวิ่ง สถานี ตัวรถ และการจัดการอื่นๆ เช่น ตั๋ว การเชื่อมต่อกับการขนส่งแบบอื่นๆ

องค์ประกอบของ KRT
องค์ประกอบของ KRT

ตัวอย่างหน้าตาของสถานี (เบื้องต้น) คงคล้ายๆ กับสถานี BTS หรือ Airport Link ของ กทม.

ตัวอย่างสถานี KRT
ตัวอย่างสถานี KRT

ตัวอย่างรางหรือเรียกให้ถูกคือ ทางวิ่ง/ถนน ยกระดับ

ตัวอย่างราง KRT
ตัวอย่างทางวิ่งยกระดับ KRT

ภาพจำลองสถานี KRT แบบยกระดับ

ภาพจำลองสถานี KRT แบบยกระดับ
ภาพจำลองสถานี KRT แบบยกระดับ

ภาพจำลองตัวรถที่จะใช้วิ่งในระบบ KRT เป็นรถเมล์สมัยใหม่ที่ใช้ระบบไฮบริดหรือระบบไฟฟ้า มลพิษน้อย มีทั้งแบบรถเดี่ยว (จุได้ 80 คน) และรถพ่วง (150 คน)

 

ตัวอย่างรถ KRT
ตัวอย่างรถ KRT
การจัดวางที่นั่งในรถ KRT
การจัดวางที่นั่งในรถ KRT

สรุป

ย้ำอีกรอบว่ารายละเอียดทั้งหมดเป็นผลการศึกษา “เบื้องต้น” ที่ทางเว็บไซต์ WeKorat รวบรวมมาจากเอกสารของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารีเท่านั้น ในทางปฏิบัติจริงคงมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องมาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่

เบื้องต้นแล้วเราคงแยกประเด็นของ KRT ได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือเส้นทางวิ่งที่เหมาะสม และระบบการขนส่งที่เลือก

เส้นทางวิ่ง

สำหรับประเด็นด้านเส้นทางวิ่ง จะเห็นว่ากรอบแนวคิดของ KRT ตามโครงการศึกษาจะเน้นการสร้างระบบขนส่งมวลชนในแนวของถนนสายหลัก (โดยเฉพาะถนนมิตรภาพ) เพราะเป็นถนนใหญ่ที่มีพื้นที่ก่อสร้างได้มาก จากนั้นใช้การขนส่งแบบอื่น (เช่น รถสองแถว ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซด์รับจ้าง) ขนคนมาเชื่อมกับระบบ KRT สายหลักอีกที (ภาษาคมนาคมเรียก feeder) อันนี้คงไม่ต่างอะไรจาก BTS/MRT ใน กทม. ที่เกิดสภาพ feeder แบบต่างๆ ขึ้นมาอยู่แล้ว

ทีมงาน We Korat เห็นว่าแนวคิดการเลือกเส้นทางวิ่งตามถนนสายหลักนั้นค่อนข้างเหมาะสม แต่ก็มีคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีสถานีเยอะขนาดนี้ ในแง่การลงทุนอาจปรับลดบางเส้นทางลงได้ (เช่น เส้นทางไปจอหอที่มีถึง 2 เส้น อาจเลือกเพียงเส้นเดียว)

ระบบการขนส่งที่เลือก

ที่ปรึกษาเลือกระบบ BRT แบบลอยฟ้า ซึ่งยังดูก้ำกึ่งระหว่างการลงทุนเยอะเพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเต็มรูปแบบ (MRT) กับการประหยัดการลงทุนโดยใช้ BRT แบบพื้นราบ ซึ่งมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เทศบาลจะกัดฟันลงทุนสูงๆ ไปเลยเพื่ออนาคตระยะยาว หรือไม่ก็ลดความเสี่ยงโดยการทำทางวิ่งบนพื้นราบเพียงอย่างเดียว (จะได้ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างและการเวนคืน) ซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องพิจารณากันในรายละเอียดเมื่อมีการศึกษาขั้นละเอียดในอนาคตต่อไป