เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน นอกจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม), ผ้าไหมปักธงชัย, ผัดหมี่โคราช, ปราสาทหินพิมาย และเครื่องปั่นดินเผาด่านเกวียน ตามคำขวัญประจำจังหวัดที่เป็นความภาคภูมิใจของคนโคราชแล้ว และยังมีอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่เป็นหน้าเป็นตาให้แก่เมืองโคราชบ้านเรา นั้นคือ “เจ้าสัว” ศูนย์จำหน่ายของฝากโคราชที่ใหญ่ที่สุดในโคราช ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าเห็นชัดอยู่ริมถนนมิตรภาพ แถมถือว่าเป็น landmark เข้าสู่ตัวเมืองโคราชได้อีกด้วย
เราเชื่อว่าใครที่เป็นคนโคราชจะต้องรู้จัก เจ้าสัวสุดยอดของฝากโคราช ดังนั้นเนื่องจากทีมงาน wekorat เองก็เป็นคนโคราชแต่โดยกำเนิด และคุ้นชินกับของฝากต่างๆ ของเจ้าสัวเป็นอย่างดี (เพราะซื้อตั้งแต่เด็ก) บทความครั้งนี้เราจึงไปขอสัมภาษณ์ คุณเอกธนา โมรินทร์ (พล) ผู้จัดการทั่วไปและหนึ่งในทายาทธุรกิจเจ้าสัว เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของร้านเจ้าสัวไว้เป็นเกร็ดความรู้สักเล็กน้อยครับ
ประวัติ
เจ้าสัวถูกก่อตั้งขึ้นในสมัยรุ่นคุณปู่ของคุณพล ซึ่งก็คือ คุณเพิ่ม โมรินทร์ แต่เดิมคุณเพิ่มประกอบอาชีพขายของชำอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลที่มองเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมา จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่นี่ แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู (ซึ่งตอนนั้นโคราชมีการเลี้ยงหมูเยอะ) เป็นกุนเชียง, หมูแผ่น, หมูหยอง เป็นต้น เพื่อส่งไปขายในกรุงเทพฯ
ต่อมาจึงขยายกิจการเป็นร้านขายของฝากชื่อ “เตีย หงี่ เฮียง” และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “สามดาว ขวานคู่” ในสโลแกน “เตีย หงี่ เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ”
โรงงานและร้านขายของฝาก เตีย หงี่ เฮียง แห่งแรก ตั้งอยู่ที่ใกล้กับประตูพลล้าน และปัจจุบันก็ยังมีเปิดขายของฝากอยู่
ก่อนที่แบรนด์เจ้าสัวจะมาเป็นรูปตัวหนังสือสีทอง พื้นหลังสีแดง อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เพื่อนๆ รู้กันหรือไม่ว่าเจ้าสัวได้มีการรีแบรนด์มาแล้วถึง 4 ครั้ง ดังนี้ครับ
ปี พ.ศ. 2520 จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “สามดาว ขวานคู่” ในสโลแกน “เตีย หงี่ เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ”
ปี พ.ศ. 2526 ได้เปลี่ยนโลโก้เป็นรูปป้ายแขวนแบบจีน ที่มีตัวอักษรจีน คำว่า เตีย หงี่ เฮียง
ปี พ.ศ. 2539 เปลี่ยนโลโก้เป็นคำว่า เจ้าสัว และมีคำว่า เตีย หงี่ เฮียง เขียนอยู่ข้างใต้ และในช่วงปีใกล้ๆ นี้เองที่เจ้าสัว (รุ่นคุณพ่อของคุณพล) ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นสินค้าแจ้งเกิดของเจ้าสัวเลยก็ว่าได้ นั้นคือ ข้าวตังหมูหยอง ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ปี พ.ศ. 2552 เปลี่ยนโลโก้เป็นคำว่า เจ้าสัว อย่างเดียว และเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมใช้สโลแกนใหม่เป็น คุณค่าในทุกโอกาส
ปัจจุบันศูนย์จำหน่ายของฝากและโรงงานการผลิตได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ ถ.มิตรภาพ ฝั่งขาออกจากเมืองโคราช และมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิเช่น แบรนด์ธัญทิพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับธัญพืช เป็นต้น และยังได้ขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งทางโมเดิร์นเทรด และปั้มน้ำมัน ปตท.
จากประวัติอันยาวนานของเจ้าสัว หรือ เตีย หงี่ เฮียง จะเห็นว่าอยู่คู่เมืองโคราชมาอย่างยาวนานมากกว่า 50 ปีแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับเมืองโคราชเองก็ไม่ใช่จะมีแค่ในด้านธุรกิจเท่านั้น การที่เจ้าสัวตั้งโรงงานการผลิตที่โคราชยังเป็นการทำให้มีการจ้างงานมากกว่าหลายร้อยตำแหน่ง ส่งผลให้คนโคราชเองได้มีสถานที่ทำงานในถิ่นฐานของตนเอง ได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว นอกจากนี้ในสภาวะที่คนโคราชเดือนร้อนอย่างเช่น ตอนน้ำท่วมโคราชปี 2553 ทางเจ้าสัวเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำสิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ ออกไปช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจนถึงมือกันเลย
ตอนหน้าจะเป็นการพาไปรีวิว เจ้าสัว ศูนย์จำหน่ายของฝากโคราช แล้วรอติดตามกันนะครับ >> เจ้าสัวศูนย์ขายของฝากโคราชที่ใหญ่ที่สุด