การเดินทางช่วงเทศกาลจากกรุงเทพมหานครสู่ภาคอีสาน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นปัญหามาโดยตลอดในช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ เพราะถือเป็นเส้นทางที่รถติดที่สุดเนื่องจากรถยนต์ที่จะมุ่งสู่ภาคอีสานแทบทั้งหมดจะต้องผ่านเส้นทางนี้
ทีมงาน We Korat ขอนำเสนอข้อมูลถนนทางลัด-ทางเลือกที่เป็นไปได้ สำหรับคนที่จะเดินทางขับรถจากกรุงเทพมาโคราชในช่วงเทศกาล ดังนี้
เส้นทางจากกรุงเทพ สู่นครราชสีมา
โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว การเดินทางจากกรุงเทพสู่ จ.นครราชสีมา (หรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน) สามารถไปได้ 2 เส้นทางหลักๆ คือ
1) ถนนพหลโยธิน-มิตรภาพ วิ่งตามท่ามาตรฐานบน ถ.พหลโยธิน ขึ้นเหนือไปจน “ถึงสระบุรีแล้วเลี้ยวขวา” เข้าถนนมิตรภาพ เข้าสู่ จ.นครราชสีมา
ข้อดี-ข้อเสีย: เส้นทางมาตรฐาน ถนนใหญ่ สาธารณูปโภคพร้อม ปั๊มน้ำมันรายทาง แต่เป็นเส้นทางที่ทุกคนนึกถึง แถมรถบรรทุกเยอะมาก มีจุดรถติดคอขวดอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ อ.เมือง สระบุรี และช่วงขึ้นเขาบริเวณ อ.มวกเหล็ก หน้าโรงปูนแก่งคอย
2) ถนน 304 ผ่านกบินทร์บุรี ตัดผ่านเขาใหญ่ผ่านทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไปโผล่ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ข้อดี-ข้อเสีย: เส้นทางนี้จะมีรถน้อยกว่าเส้นทางแรก แต่จะมีช่วงขึ้นเขาใหญ่ที่ทางแคบและชัน ในช่วงเทศกาลรถจะติดคอขวดกันอยู่ช่วงนี้ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่ทางภาคตะวันออกของ กทม. อยู่แล้ว สามารถหักออกมาทางตะวันออก (ปราจีนบุรีหรือฉะเชิงเทรา) ได้ง่ายกว่า
สำหรับคนที่ใช้ถนนหลวง 304 คงไม่มีทางเลือกมากนักเพราะเป็นถนนเส้นเดียว ตัดผ่านภูเขาไปตรงๆ (จะมีก็แค่จะหาวิธีเข้าถนน 304 ได้อย่างไรจาก กทม. ซึ่งขึ้นกับว่ามาจากโซนไหน)
ในที่นี้เราจะเน้นเส้นทางหลักคือสายพหลโยธิน-มิตรภาพ โดยจะอธิบายเส้นทางลัดแยกเป็นเฉพาะจุดไป ดังนี้
ออกจากกรุงเทพอย่างไรให้เร็ว
คำตอบขึ้นกับว่าจุดตั้งต้นจากกรุงเทพอยู่แถวไหน แต่ในเบื้องต้น เส้นทางออกจากกรุงเทพมหานครทางทิศเหนือ แบ่งออกเป็น 4 เส้นใหญ่ๆ คือ
- ถนนวงแหวนตะวันตก – สำหรับคนที่บ้านอยู่แถบฝั่งธน บางบัวทอง บางใหญ่ ฯลฯ ใช้เส้นทางนี้ไปตัดออกที่บริเวณทางต่างระดับบางปะอินได้เลย ไม่ต้องผ่านเข้าเมือง
- ทางด่วนอุดรรัถยา – เส้นทางแนะนำสำหรับคนอยู่ใจกลางเมือง สามารถขึ้นทางด่วนสายเหนือ (อุดรรัถยา หรือ ปากเกร็ด-บางปะอิน) ผ่านเมืองทองธานี ด้านหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เชียงราก บางไทร ไปลงสุดทางได้เลย ทางด่วนจะไปเชื่อมกับถนนวงแหวนตะวันตก แล้วค่อยไปเชื่อมกับถนนพหลโยธินที่ทางต่างระดับบางปะอินอีกทีหนึ่ง วิธีนี้จะเร็วกว่าการใช้ถนนวิภาวดีรังสิต-พหลโยธินตามปกติ
- ถนนวิภาวดีรังสิต-พหลโยธิน – เส้นทางมาตรฐาน ผ่านสนามบินดอนเมือง ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เส้นนี้รถจะติดที่สุด และมีทางแยกย่อยมากมาย แม้จะมีตัวช่วยบ้างคือขึ้นโทลเวย์แต่ก็ได้แค่บางส่วนเท่านั้น ในช่วงเทศกาลควรหลีกเลี่ยง
- ถนนวงแหวนตะวันออก – สำหรับคนบ้านอยู่แถบมีนบุรี บางกะปิ สายไหม เลี่ยงมาออกถนนวงแหวนตะวันออก (มาจากทางด่วนรามอินทราก็เชื่อมต่อกัน) เส้นทางวงแหวนตะวันออกจะไปเชื่อมกันที่ทางต่างระดับบางปะอินเช่นกัน
สำหรับคนที่อยู่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของ กทม. ไปเลย สามารถตัดสินใจใช้ตัวเลือก 1 หรือ 4 ได้ง่ายๆ แต่คนที่อยู่ส่วนใจกลางเมือง แนะนำให้ใช้ทางด่วน (ทางเลือกที่ 2) จะดีกว่ามาทางวิภาวดีรังสิตตรงๆ ครับ (เว้นแต่ว่าบ้านอยู่แถบรังสิตหรือดอนเมืองอยู่แล้ว)
ทางลัดเลี่ยงถนนพหลโยธิน – ถนน 305 รังสิต-บ้านนา-หินกอง
เส้นทางช่วงต่อจากนั้นคือ บางปะอินไปยังสระบุรี แทบไม่มีทางเลือกอื่นๆ มากนักนอกจากมุ่งหน้าไปบนถนนพหลโยธินตามปกติ (อดทนกันต่อไป)
เส้นทางพอเลี่ยงได้บ้างคืออ้อมหน่อย ใช้ถนนเส้น 305 เลียบคลองรังสิตไปออกที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก แล้วตัดเข้าเส้น 33 เลี้ยวไปเข้าถนนพหลโยธินที่ อ.หินกอง แต่ถนนจะเล็กหน่อยและวิ่งอ้อมอยู่บ้าง
เส้นทางนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่ฝั่งตะวันออกของ กทม. สามารถขึ้นทางด่วนรามอินทรา เข้าวงแหวนตะวันออก แล้วตัดออกเส้น 305 ได้เลย แต่ถ้ามาจากฝั่งตะวันตก เส้นทางนี้จะอ้อมอยู่พอสมควรนะครับ
เส้นทางเลี่ยงเมืองสระบุรี
จุดคอขวดสำคัญอีกแห่งของเส้นทางนี้คือบริเวณ อ.เมืองสระบุรี หน้าค่ายอดิศร ที่เป็นสะพานเลี้ยวขวาจากถนนพหลโยธิน เข้าถนนมิตรภาพมุ่งสู่ภาคอีสาน สะพานมีแค่ 2 เลน รถจะแออัดมาก
ปัจจุบันมีทางเลือก 2 ทางในการเลี่ยงเมือง (บายพาส) ไม่ต้องเข้า อ.เมืองสระบุรี คือ
- วงแหวนตะวันออก บายพาสไม่ต้องเข้าสระบุรี เส้นนี้จะไปวัดพระพุทธบาทสระบุรีได้ ข้อดีคือถนนค่อนข้างโล่ง ไม่ค่อยมีบ้านคนหรือรถเกะกะ แต่จะมีไฟแดง 1 จุดบริเวณต้นถนนที่จะเลี้ยวไปวัดพระพุทธบาท
- วงแหวนตะวันตก บายพาสหลบเมืองสระบุรี เหมาะสำหรับรถที่จะขึ้นเหนือไม่ไปภาคอีสาน แต่ก็ยังสามารถวกกลับมาเข้าถนนมิตรภาพได้เช่นกัน
จาก อ.เมือง สระบุรี ถ้าเลี้ยวเข้าถนนมิตรภาพแล้วก็แทบไม่มีตัวเลือกเช่นกัน เพราะเป็นถนนเส้นเดียวตัดขึ้นเขาไปยัง อ.มวกเหล็ก และ อ.ปากช่อง ซึ่งรถจะติดขัดมากในช่วงขึ้นเนินหน้าโรงปูนแก่งคอยครับ (ขึ้นเนินได้เสร็จก็จะเริ่มโล่งขึ้นกว่าเดิม) ที่เหลือก็คืออดทนมุ่งหน้าตรงอย่างเดียวสู่ จ.นครราชสีมาได้เลย
เส้นทางเลือก: อ้อมหลบ สระบุรี-มวกเหล็ก
บริเวณสระบุรี-มวกเหล็ก-ปากช่อง รถจะติดมากเพราะเป็นทางบังคับ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้คือยอมขับรถอ้อมไกลหน่อย (แต่อาจเร็วกว่าในแง่เวลา) คือไม่ต้องเลี้ยวขวาเข้าสระบุรี แต่ให้ตรงขึ้นเหนือไป วิ่งถนนหมายเลข 21 แล้วเข้าทางหลวง 2256 ผ่านเขื่อนป่าศักดิ์ แล้วตัดเข้า อ.สีคิ้ว ทีหลัง (ถ้าจะไปจังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสาน ก็สามารถขึ้นเหนือไปต่อได้เลย ไม่ต้องเข้าโคราช)
วิธีนี้จะอ้อมกว่าเส้นทางปกติเยอะ แต่อาจเวิร์คกว่าในช่วงเทศกาลครับ การตัดสินใจจะเลือกเส้นไหนคงขึ้นกับวันและเวลาที่เดินทาง ทีมงาน We Korat ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยในช่วงเทศกาลครับ
คำแนะนำเพิ่มเติมจากกรมทางหลวง
(ข้อมูลอัพเดตปี 2561) กรมทางหลวงให้คำแนะนำเส้นทาง จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนครราชสีมา 4 เส้นทางหลัก ซึ่งคล้ายกับที่ We Korat เคยแนะนำไว้ ดังนี้
- เส้นทางที่ 1 : กรุงเทพฯไป สระบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) – อ.ม่วงค่อม (ทางหลวงหมายเลข 205) – อ.ท่าหลวง (ทางหลวงหมายเลข 2256) – อ.ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2148) – อ.ขามทะเลสอ (ทางหลวงหมายเลข 2068) – จังหวัดนครราชสีมา
- เส้นทางที่ 2 : กรุงเทพฯไป อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) – สระบุรี – อ.ปากช่อง – อ.สีคิ้ว (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) – นครราชสีมา
- เส้นทางที่ 3 : กรุงเทพฯไป นครนายก (ทางหลวงหมายเลข 305) – อ.บ้านนา (ทางหลวงหมายเลข 3051, 33) – อ.แก่งคอย (ทางหลวงหมายเลข 3222) – อ.ปากช่อง (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) – นครราชสีมา
- เส้นทางที่ 4 : กรุงเทพฯไป ฉะเชิงเทรา (ทางหลวงหมายเลข 314) – อ.พนมสารคาม – อ.กบินทร์บุรี – อ.วังน้ำเขียว – อ.ปักธงชัย (ทางหลวงหมายเลข 304) – นครราชสีมา
ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ที่มีประโยชน์
- รายงานสภาพจราจรช่วงปีใหม่ โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม มีรายงานสภาพจราจรแบบ real time ทั่วไทย และมีภาพจากกล้อง CCTV แสดงให้เห็นสภาพจราจร
- แอพสำหรับดูสภาพจราจรแบบ real time บนมือถือ ของกระทรวงคมนาคม มีทั้งบน Android และ iOS
- เส้นทางลัดช่วงเทศกาล รวบรวมโดย กรมทางหลวง